คำถาม อะไรคือฮุก่มของการสวมเครื่องรางของขลังที่ทำจากอัลกุรอ่านหรืออื่นจากอัลกุรอ่าน ?
คำตอบ เชค อับดุลอะซีซ บินบาซ (ร่อฮิม่าฮุ้ลลอฮ์) ได้กล่าวว่า :
“สำหรับเครื่องรางของขลังที่ไม่ได้มาจากอัลกุรอาน เช่น กระดูก อักขระลึกลับ เปลือกหอย ขนหมาป่า และสิ่งอื่นที่คล้ายคลึงกันนั้น ล้วนเป็นสิ่งที่ต้องห้ามโดยชัดเจนตามหลักศาสนา ไม่อนุญาตให้นำมาติดแขวนกับเด็กหรือผู้ใดเลย
เพราะมีรายงานจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ว่า: “ผู้ใดแขวนเครื่องรางของขลัง ก็ขอให้อัลลอฮ์มิทรงประทานความสำเร็จให้แก่เขา และผู้ใดแขวนเปลือกหอย(เพื่อความขลัง) ก็ขอให้อัลลอฮ์มิทรงให้เขาพบกับความสงบสุข” (1)
และในรายงานอีกสายหนึ่งกล่าวว่า: “ผู้ใดแขวนเครื่องราง แท้จริงเขาได้กระทำการตั้งภาคี” (2)
ส่วนเครื่องรางที่ทำจากอัลกุรอ่านหรือดุอาอ์ที่ดีที่เป็นที่รู้จัก นักวิชาการมีความเห็นต่างกันในประเด็นนี้ บางท่านกล่าวว่าอนุญาตให้แขวนได้ โดยมีรายงานว่าบรรดาสะลัฟบางกลุ่มระบุว่าอนุญาต ซึ่งพวกเขาได้เปรียบเหมือนการอ่านอัลกุรอ่านเพื่อรักษาผู้ป่วย
ความเห็นที่สองคือ ไม่อนุญาตให้แขวนเครื่องรางที่ทำจากอัลกุรอ่าน ซึ่งทัศนะนี้เป็นที่รู้จักดีจากท่านอับดุลลอฮ์ อิบนุ มัสอูด และท่านหุซัยฟะฮ์ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมมา) รวมถึงนักวิชาการจากบรรดาสะลัฟและเคาะลัฟ โดยพวกเขากล่าวว่า ไม่อนุญาตให้แขวนเครื่องรางแม้จะนำมาจากอัลกุรอาน ทั้งนี้เพื่อเป็นการปิดประตูสู่การตั้งภาคีต่ออัลลอฮ์ (ชิริก) และเพื่อยุติในเรื่องชิริก (ที่อาจเกิดขึ้น) อีกทั้งยังเป็นการยึดตามบทบัญญัติที่ครอบคลุม(ที่ระบุไว้) ซึ่งหะดิษที่ห้ามการใช้เครื่องรางของขลังนั้น เป็นคำสั่งที่ครอบคลุมทั่วไปโดยไม่ได้ยกเว้นสิ่งอะไร ดังนั้นจึงจำเป็นต้องยึดถือตามคำสั่งทั่วไปที่ครอบคลุมนี้ และไม่อนุญาตให้ใช้เครื่องรางของขลังใด ๆ โดยสิ้นเชิง เพราะการไปอนุญาตตรงนี้อาจนำไปสู่ความสับสนและเปิดช่องทางให้เกิดการแขวนเครื่องรางของขลังชนิดอื่น ๆ ที่ผิดหลักการได้ในที่สุด
ดังนั้นจึงจำเป็นต้องห้ามเสียทั้งหมด นี้คือทัศนะที่ถูกต้องที่สุดด้วยหลักฐานที่ชัดเจนในเรื่องนี้ และหากเราอนุญาตให้แขวนเครื่องรางของขลังที่ทำจากอัลกุรอ่านหรือเครื่องรางที่ทำมาจากตัวบทดุอาอ์ที่ดีได้แล้ว ก็จะเป็นการเปิดช่องทางให้ใครก็ตามสามารถแขวนเครื่องรางของขลังใดก็ได้ ตามที่ตนต้องการ และเมื่อมีใครไปทักท้วงเขา เขาก็จะกล่าวว่า : ของขลังนี้ทำมาจากอัลกุรอ่าน หรือทำมาจากตัวบทดุอาอ์ดี ๆ จึงนำไปสู่การเปิดช่องทาง (ให้เครื่องรางของขลังเป็นที่ถูกยอมรับในหมู่ผู้คน) และทำให้เครื่องรางของขลังทั้งหมดทุกชนิดถูกสวมแขวนได้ในที่สุด
และสาเหตุประการต่อมา (ที่ไม่อนุญาตให้สวมใส่เครื่องรางที่ทำจากอัลกุรอ่าน) ก็คือบางทีมันอาจถูกนำเข้าไปในห้องน้ำ หรือสถานที่ที่สกปรก ซึ่งรู้กันดีว่าดำรัสของอัลลอฮ์นั้นจะต้องบริสุทธิ์จากสถานที่เหล่านี้ ไม่เหมาะไม่ควรที่จะนำอัลกุรอ่านเข้าสถานปลดทุกข์
(1) บันทึกโดยอะหมัด : 17404 และอัฏฏอบรอนีย์ใน “มุสนัด อัชชามียีน” (234)
(2) บันทึกโดยอะหมัด : 17422 และฮากิม : 7513
แหล่งที่มา; มัจมัวอ์ อัลฟะตาวา (1/51) เชค อับดุลอะซีซ บินบาซ (ร่อฮิม่าฮุ้ลลอฮ์)