คำถาม :อะไรคือเหตุผลทางศาสนาในการบัญญัติการเช็ดบนรองเท้าคุฟ?
คำตอบ : เหตุผลทางศาสนาในการบัญญัติการเช็ดบนรองเท้าคุฟคือ การมาทำหน้าที่แทนการล้างเท้า(ในการอาบน้ำละหมาด)
ซึ่งสิ่งที่เป็นวาญิบ(จำเป็น)ในการอาบน้ำละหมาด คือการทำความสะอาดอวัยวะทั้งสี่(ด้วยน้ำสะอาด) ได้แก่ ใบหน้า แขนทั้งสอง ศีรษะ และเท้าทั้งสอง จึงนับว่าเป็นหนึ่งในความเมตตาของอัลลอฮ์ ตะอาลา ที่มีต่อปวงบ่าวของพระองค์ ในการผ่อนผันให้ผู้ที่สวมใส่ถุงเท้าและรองเท้าคุฟไม่จำเป็นต้องถอดมันออกแล้วต้องมาล้างเท้า เพราะดังกล่าวถือเป็นการสร้างความลำบากที่จะต้องทำการถอดเข้าถอดออกหลายๆครั้ง ซึ่งเท้าที่เปียกชุ่มไปด้วยน้ำ ทำให้ถุงเท้าและรองเท้าคุฟต้องเปียกชุ่มไปด้วยเช่นกัน อันจะก่อให้เกิดอันตราย(ต่อเท้า)
ดังนั้นจึงนับว่าเป็นหนึ่งในความเมตตาของอัลลอฮ์ ตะอาลา ที่พระองค์ทรงบัญญัติให้แก่ปวงบ่าวของพระองค์ ในการสามารถที่จะเช็ดบนรองเท้าคุฟและถุงเท้าแทนการล้างเท้าได้
แต่จะสามารถกระทำเช่นนี้ได้ภายในระยะเวลาที่ถูกกำหนดไว้ นั่นก็คือ หนึ่งวันหนึ่งคืนสำหรับผู้ที่พำนัก และสามวันสามคืนสำหรับผู้ที่เดินทาง โดยเริ่มนับระยะเวลาในการเช็ดตั้งแต่การเช็ดครั้งแรกหลังจากที่มีหะดัษ(เสียน้ำละหมาดหรือมีญะนาบะฮ์ ) ส่วนเวลาก่อนหน้าจะไม่ถูกนับรวมกับเวลาที่ศาสนาอนุญาตให้เช็ดได้
สมมุติว่าคนๆหนึ่งสวมใส่ถุงเท้า(หลังจากที่ทำการอาบน้ำละหมาดเรียบร้อยแล้ว)เพื่อทำการละหมาดซุบฮิ และเขาสามารถรักษาน้ำละหมาดของเขาไว้ได้จนถึงเวลามัฆริบ แล้วเกิดมีหะดัษขึ้นมา เขาจึง(อาบน้ำละหมาดแล้ว)เช็ดบนถุงเท้าเพื่อไปละหมาดมัฆริบ ในกรณีนี้จะไม่นับเวลาก่อนหน้าละหมาดมัฆริบรวมอยู่ในระยะเวลา(ที่ศาสนาอนุญาตให้เช็ดได้) ดังนั้นหากเขาเป็นผู้พำนักเขาจะสามารถเช็ดได้ไปจนถึงเวลามัฆริบถัดไป แต่ถ้าเขาเป็นผู้เดินทางเขาจะสามารถเช็ดได้สามวันหลังจากนั้น
แหล่งที่มา; หนังสือ “ฟะตาวานู้รอะลัรดัรบ์ ของ เชคอุซัยมีน” ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮ์ เล่มที่ 7 หน้า 2