เงื่อนไขการเช็ดบนคุฟฟ์

·

คำถาม : การเช็ดบนรองเท้าคุฟ(รองเท้าหุ้มข้อที่ทำจากหนังสัตว์)นั้นมีเงื่อนไขอะไรบ้าง? มีลักษณะเจาะจงสำหรับรองเท้าคุฟหรือไม่ หรือสามารถเช็ดบนรองเท้าอะไรก็ได้?

คำตอบ : มีบัญญัติให้เช็ดบนรองเท้าคุฟ(รองเท้าหุ้มข้อที่ทำจากหนังสัตว์) (โดยมีเงื่อนไขว่า) 
1.รองเท้านั้นจะต้องปกปิดเท้าและตาตุ่มทั้งสอง 
2.และ(รองเท้านั้น)จะต้องสะอาด(จากนะญิส)[1] โดยทำมาจากหนังสัตว์อะไรก็ได้ที่สะอาด เช่น อูฐ วัว แพะ แกะ เป็นต้น 
3.ผู้สวมใส่(ก่อนจะใส่มัน)จะต้องมีความสะอาดอย่างสมบูรณ์(มีน้ำละหมาดและปราศจากญะนาบะฮ์)[2]
อนุญาตให้เช็ดบนถุงเท้าได้เช่นเดียวกับรองเท้าคุฟ ตามทรรศนะที่มีน้ำหนักจากสองทรรศนะที่นักวิชาการขัดแย้งกัน คือถุงเท้าที่ปกปิดเท้า(และตาตุ่ม)ทั้งสอง ไม่ว่าจะทำจากผ้าฝ้าย ขนสัตว์ หรืออะไรก็ตาม เพราะได้มีหลักฐานยืนยันจากท่านร่อซู้ล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ว่า “ท่านนั้นเช่นบนถุงเท้าและรองเท้าทั้งสอง” และได้มีการยืนยันการกระทำดังกล่าวจากกลุ่มศ่อฮาบะฮ์ ร่อฎิยั้ลลอฮุอันฮุม ของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม อีกหลายท่าน และด้วยเหตุผลที่ว่าถุงเท้านั้นอยู่ในความหมายเดียวกับรองเท้าคุฟที่มีจุดประสงค์เดียวกันคือการสร้างความสะดวกง่ายดาย 
4.และสามารถเช็ดได้ในระยะเวลาที่กำหนด คือ หนึ่งวันหนึ่งคืนสำหรับผู้ที่พำนัก และสามวันสามคืนสำหรับผู้ที่เดินทาง 
5.สามารถเริ่มเช็ดได้หลังจากที่มีหะดัษเล็ก(เสียน้ำละหมาด) ตามทรรศนะที่มีน้ำหนักจากสองทรรศนะที่นักวิชาการขัดแย้งกัน ด้วยหลักฐานจากหลายๆหะดีษที่ศ่อเฮียะฮ์ที่มีรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยที่ผู้สวมใส่จะต้องมีความสะอาดอย่างสมบูรณ์(ก่อนสวมใส่) ซึ่งที่กล่าวมานั้นหมายถึงการมีหะดัษเล็ก(ระหว่างสวมใส่)
ส่วนการมีหะดัษใหญ่(ญะนาบะฮ์)(ระหว่างสวมใส่)นั้น ไม่อนุญาตให้เช็ดบนรองเท้าคุฟ(และถุงเท้า) โดยจำเป็นต้องถอดรองเท้าและถุงเท้านั้น แล้วล้างเท้าทั้งสอง(ตามขั้นตอนการอาบน้ำละหมาดหรืออาบน้ำยกหะดัษปรกติ) ดังที่ได้มีรายงานมาจากท่านซอฟวาน บินอะซาล ร่อฎิยั้ลลอฮุอันฮุ ว่า ((ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม สั่งให้เราไม่ถอดรองเท้าคุฟสามวันสามคืน ยกเว้นเมื่อมีญะนาบะฮ์ แต่ถ้าหากถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ หรือนอน(ก็ไม่ต้องถอด))) บันทึกโดยอันนะซาอีย์ และติรมิซีย์ ซึ่งสำนวนหะดีษเป็นของท่าน และอิบนุคุซัยมะฮ์ โดยที่ท่านทั้งสองได้ให้สถานะหะดีษว่าเป็นศ่อเฮียะฮ์ ตามที่ท่านอัลฮาฟิซอิบนุฮะญัรได้ว่าไว้ในหนังสือ “บุลูฆุ้ลมะรอม” 
การทำความสะอาดจากหะดัษใหญ่ หมายถึง การทำความสะอาดจาดญะนาบะฮ์ เช่น การมีประจำเดือน และเลือดหลังคลอดบุตร เป็นต้น 
ส่วนการทำความสะอาดจากหะดัษเล็ก เช่น ปัสสาวะ ผายลม และทุกสิ่งที่ทำให้เสียน้ำละหมาด

[1]สิ่งสกปรกตามหลักการอิสลาม
[2]สิ่งที่ทำให้จำเป็นต้องอาบน้ำทั่วร่างกาย(ฆุสล์) เช่น การมีน้ำอสุจิเคลื่อนออกมาโดยอารมณ์ใคร่ การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างสามี-ภรรยา การมีประจำเดือน และเลือดหลังคลอดบุตร เป็นต้น

แหล่งที่มา; หนังสือ “มัจญ์มูอ์ฟะตาวา ว่ะมะกอลาตมุตะเนาวิอะฮ์” ของเชคบินบาซ ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮ์ เล่มที่ 10 หน้า 111-112