วิธีการทำตะยัมมุมสำหรับผู้ป่วย

·

คำถาม   : ฉันเป็นผู้ป่วยที่ไม่สามารถอาบน้ำละหมาดเองได้ และไม่มีคนช่วยอาบให้ ฉันจะสามารถทำตะยัมมุมได้หรือไม่? และเป็นที่ทราบดีว่าโรงพยาบาลนั้นจะคอยทำความสะอาดผนังกำแพง พื้นห้อง และพรมอยู่ทุกวัน แล้วฉันจะทำตะยัมมุมในกรณีนี้ได้อย่างไร?

คำตอบ  เชคบินบาซ ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮ์ ตอบว่า  “หากผู้ป่วยไม่มีคนช่วยอาบน้ำละหมาดให้ และไม่สามารถอาบด้วยตัวเองได้ ให้เขานั้นทำตะยัมมุม ดังที่อัลลอฮ์ตรัสว่า ((และหากพวกเจ้าเป็นผู้ป่วย หรืออยู่ในการเดินทาง หรือคนใดในหมู่พวกเจ้ามาจากที่ถ่ายทุกข์ หรือพวกเจ้าสัมผัสสตรี(มีเพศสัมพันธ์) แล้วพวกเจ้าไม่พบน้ำ ก็จงมุ่งสู่ดินที่ดี แล้วจงลูบใบหน้าของพวกเจ้า และมือของพวกเจ้าจากดินนั้น))1 ดังนั้นผู้ที่ไม่สามารถทั้งอาบน้ำละหมาดและทำตะยัมมุมนั้น ถือว่าเป็นผู้มีอุปสรรค จึงจำเป็นที่เขาจะต้องละหมาดในเวลาโดยไม่มีน้ำละหมาด และตะยัมมุม ตามคำตรัสของพระองค์ที่ว่า ((ดังนั้นพวกเจ้าจงยำเกรงต่ออัลลอฮ์เถิด เท่าที่พวกเจ้าสามารถ))2 และคำกล่าวของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่ว่า (สิ่งที่ฉันห้ามพวกท่านไม่ให้กระทำ ก็จงออกห่างมันเสีย และสิ่งที่ฉันสั่งใช้พวกท่าน ก็จงทำมันเท่าที่พวกท่านสามารถจะกระทำได้)3

  และศ่อฮาบะฮ์บางท่าน ร่อฎิยั้ลลอฮุอันฮุม ได้เคยละหมาดในการเดินทางไปพร้อมกับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม โดยไม่มีทั้งน้ำละหมาด และตะยัมมุม โดยที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ก็ไม่ได้คัดค้านการกระทำดังกล่าว เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อครั้งการเดินทางที่ท่านหญิงอาอิชะฮ์ ร่อฎิยั้ลลอฮุอันฮา ได้ทำสร้อยคอของตนเองหล่นหาย แล้วศ่อฮาบะฮ์บางท่านก็ได้ออกตามหามัน ตามคำสั่งของท่านร่อซู้ล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม แต่พวกเขาก็ไม่พบ เมื่อถึงเวลาละหมาด พวกเขาจึงทำการละหมาดโดยไม่ได้อาบน้ำละหมาด และไม่ได้ทำตะยัมมุม ซึ่งฮุก่มการทำตะยัมมุมยังไม่ถูกบัญญัติใช้ ณ ขณะนั้น และพวกเขาก็ไม่พบน้ำ จึงได้มีบัญญัติการทำตะยัมมุมขึ้นมา อันเนื่องมาจากเหตุการณ์นี้นั่นเอง

  และ(การตะยัมมุม)นั้นถือว่าเป็นเรื่องที่วาญิบ(จำเป็นต้องกระทำ) เมื่อผู้ป่วยไม่สามารถใช้น้ำได้ และไม่มีคนช่วยอาบน้ำละหมาดให้ จึงจำเป็นที่เขาจะต้องทำตะยัมมุม หากพบฝุ่นที่สะอาดเกาะอยู่ตามพื้นห้อง ภาชนะ หรือเหยือกน้ำ ก็ให้เขาทำตะยัมมุมด้วยฝุ่นนั้น เป็นการแทนกันโดยไม่ต้องอาบน้ำละหมาด

 ไม่อนุญาตให้ละเลยเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะโรงพยาบาลต่างๆที่ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เพิ่มมากขึ้น   

วิธีการก็คือ การที่ผู้ป่วยจะต้องชำระทำความสะอาดอุจจาระ ปัสสาวะให้สะอาดเรียบร้อยก่อนด้วยการใช้น้ำ หรือเช็ดด้วยวัตถุ(ทิชชู เป็นต้น) ไม่ได้เจาะจงว่าจะต้องใช้น้ำล้างอย่างเดียว สามารถใช้ทิชชูที่สะอาดเช็ด หรืออะไรก็ตามในทำนองเดียวกัน เช่นใช้ก้อนหิน ฝุ่น หรือนม เป็นต้น ประเด็นคือเพื่อทำให้สิ่งสกปรกหลุดออกไปจนเกลี้ยง แต่ที่จำเป็น(วาญิบ)เลยก็คือ จะต้องเช็ดไม่น้อยกว่าสามครั้ง ถ้าสามครั้งแล้วสิ่งสกปรกยังไม่หลุดออกก็ต้องเพิ่มจำนวนขึ้นไปอีกจนกว่าจะสะอาดหมดจด ดังคำพูดของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่ว่า (ใครที่ทำการอิสติจญ์มาร(เช็ดทำความสะอาดด้วยวัตถุ)ก็จงทำให้เป็นจำนวนคี่)4 และยังมีรายงานยืนยันจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เช่นกันว่า (ท่านห้ามการใช้ก้อนหินเช็ดทำความสะอาดน้อยกว่าสามก้อน) และห้ามการใช้กระดูกและมูลสัตว์เช็ดทำความสะอาด โดยกล่าวว่า (ทั้งสองอย่างนี้ไม่ได้ทำให้สะอาด)”5

แหล่งที่มา;  หนังสือ “ฟัตวาอัฏฏิบบ์ วัลมัรฎอ” หน้าที่ 22

  1. ซูเราะฮ์ อัลมาอิดะฮ์ อายะฮ์ที่ 6 ↩︎
  2. ซูเราะฮ์ อัตตะฆอบุน อายะฮ์ที่ 16 ↩︎
  3. บันทึกอยู่ในศ่อเฮียะฮ์บุคอรีย์ เลขหะดีษที่ 7288 และศ่อเฮียะฮ์มุสลิม เลขหะดีษที่ 1337 ↩︎
  4. บันทึกอยู่ในศ่อเฮียะฮ์บุคอรีย์ เลขหะดีษที่ 161 และศ่อเฮียะฮ์มุสลิม เลขหะดีษที่ 237 ↩︎
  5. บันทึกอยู่ในศ่อเฮียะฮ์มุสลิม เลขหะดีษที่ 262 ↩︎