เงื่อนไขของการซื้อขายแบบสะลัม

·

การซื้อขายแบบสะลัมจะใช้ได้ จะต้องประกอบไปด้วยเงื่อนไขต่างๆดังต่อไปนี้

คำตอบ : 1.สินค้าที่จะทำการซื้อขายแบบสะลัมนั้นจะต้องสามารถบอกรายละเอียดได้อย่างชัดเจน เพราะสิ่งที่ไม่สามารถระบุรายละเอียดชัดเจนได้นั้น จะมีข้อแตกต่างกันอยู่มาก(ที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในเรื่องมูลค่า ราคา และประโยชน์ใช้สอย) ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาขัดแย้งกันทั้งสองฝ่าย(ผู้ซื้อ-ผู้ขาย)ในภายหลัง ดังนั้นสัญญาซื้อขายสะลัมที่เกิดกับสินค้าที่มีรายละเอียดที่ไม่เหมือนกันจะถือว่าใช้ไม่ได้ เช่น สินค้าจำพวกเมล็ดพันธุ์พืช หนังสัตว์ ภาชนะต่างๆ หรือเครื่องประดับ

2.จะต้องบอกประเภท และชนิดของสินค้าที่จะทำการซื้อขายสะลัม  ประเภท เช่น ข้าวสาลี ชนิด เช่น อัซซัลมูนีย์ ซึ่งเป็นชนิดหนึ่งของข้าวสาลี เป็นต้น

3.จะต้องบอกปริมาณของสินค้าที่จะทำการซื้อขายสะลัมเป็นหน่วยตวง ชั่ง วัด ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า ((ใครที่ทำการซื้อขายสะลัมกันในสินค้าหนึ่งสินค้าใด ก็จงทำสัญญาสะลัมโดยกำหนดจำนวนตวงที่ตกลงกัน จำนวนชั่งที่ตกลงกัน ในระยะเวลาที่ตกลงกัน)) บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ และมุสลิม
และด้วยกับเหตุผลที่ว่าหากสินค้านั้นไม่ทราบปริมาณที่แน่ชัด ก็จะไม่สามารถส่งมอบ(ให้กับผู้ซื้อ)ได้

4.ต้องบอกระยะเวลาที่แน่นอน ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า ((ในระยะเวลาที่ตกลงกัน)) และดำรัสของอัลลอฮ์ ตะอาลา ที่ว่า ((เมื่อพวกเจ้าต่างติดหนี้ยืมสินกัน ไม่ว่าหนี้สินใดก็ตาม จนกว่าจะถึงกำหนดเวลาใช้หนี้ที่ถูกระบุไว้ พวกเจ้าก็จงบันทึกมันไว้เถิด)) จากอายะฮ์และฮะดีษข้างต้นจึงเป็นหลักฐานบ่งบอกว่าการประวิงเวลาส่งมอบสินค้าเป็นเงื่อนไข(ที่จะทำให้สัญญาซื้อขายสะลัมใช้ได้) และจะต้องกำหนดระยะเวลาส่งมอบที่ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายรับทราบกันอย่างชัดเจน 

5.สินค้าที่จะทำการซื้อขายสะลัมนั้นจะต้องมีอยู่โดยทั่วไปเมื่อถึงเวลาส่งมอบ เพื่อที่จะได้ส่งมอบได้ตามกำหนด แต่ถ้าหากสินค้านั้นไม่มีอยู่ตามเวลาที่กำหนด การซื้อขายสะลัมก็จะถือว่าใช้ไม่ได้ เช่น การซื้อขายอินทผาลัมสด และองุ่น โดยกำหนดส่งมอบในช่วงฤดูหนาว เป็นต้น 

6.จะต้องรับมอบราคาค่าสินค้าที่ทราบจำนวนที่แน่นอนทั้งหมด ณ สถานที่ทำสัญญา ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า ((ใครที่ทำการซื้อขายสะลัมกันในสินค้าหนึ่งสินค้าใด ก็จงทำสัญญาสะลัมโดยกำหนดจำนวนตวงที่ตกลงกัน…..)) หมายถึง ก็จงส่งมอบให้…
อิหม่ามชาฟิอีย์ ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮ์ ได้กล่าวว่า “เพราะจะไม่เรียกว่าสะลัฟ หากไม่มีการส่งมอบเงินที่ทำการซื้อสะลัมก่อนที่คนที่ทำสัญญาสะลัมจะแยกย้าย(จากสถานที่ตกลงทำสัญญา) และเพราะว่าหากไม่มีการรับมอบกัน ณ สถานที่ตกลงทำสัญญา ดังกล่าวก็จะกล่ายเป็นการขายหนี้แลกหนี้(ที่ทั้งสินค้าและราคาอยู่ในพันธะทั้งหมด) ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่อนุญาต”

      7. สินค้าสะลัมจะต้องไม่เจาะจง แต่จะต้องเป็นหนี้สินที่อยู่ในพันธะ(ของผู้ขาย) ดังนั้นสะลัมจะใช้ไม่ได้กับการซื้อขายบ้าน ต้นไม้ เป็นต้น เพราะสิ่งที่เจาะจงมีโอกาสเสียหายก่อนที่จะส่งมอบ จึงทำให้เสียวัตถุประสงค์(ในการนำสินค้ามาอุปโภคบริโภค) ส่วนสถานที่ที่ใช้รับมอบสินค้านั้นจะต้องเป็นสถานที่เดียวกันกับตอนที่ทำสัญญาสะลัม หากมีความเหมาะสมและเป็นไปได้ ถ้าไม่เช่นนั้น อย่างเช่นทำสัญญากันบนเรือกลางทะเล ก็จำเป็นที่จะต้องบอกสถานที่รับมอบ ตามที่ทั้งสองฝ่ายพึงพอใจ แต่ถ้าเกิดการขัดแย้งกัน ก็ให้กลับไป ณ สถานที่ที่ตกลงทำสัญญาเหมือนเดิมหากเป็นการเหมาะสม

      แหล่งที่มา; หนังสือ “อัลมุลัคคอซอัลฟิกฮีย์” ของเชคซอและฮ์ บินเฟาซาน ฮะฟิเซาะฮุ้ลลอฮ์ เล่มที่ 2 หน้า 58-59