คำจำกัดความของสัญญาซื้อขายแบบ “สะลัม” พร้อมหลักฐาน
คำตอบ :“สะลัม” หรือ “สะลัฟ” คือ การจ่ายเงินก่อน แล้วรับสินค้าทีหลัง ซึ่งนักวิชาการฟิกฮ์ได้ให้คำจำกัดความไว้ว่า “สัญญาที่เกิดขึ้นกับสินค้าที่ถูกบอกลักษณะไว้ในพันธะโดยมีกำหนดระยะเวลาส่งมอบในภายหลัง แลกกับราคาที่จะต้องชำระภายในสถานที่ตกลงทำสัญญา”
ซึ่งธุรกรรมดังกล่าวเป็นที่อนุญาต โดยอ้างอิงหลักฐานจากอัลกุรอ่าน ซุนนะฮ์ และมติเอกฉันท์ในหมู่ปวงปราชญ์(อิจญมาอ์)
(หลักฐานจากอัลกุรอ่าน) อัลลอฮ์ ตะอาลา ตรัสว่า ((โอ้บรรดาผู้มีอีหม่านแล้วทั้งหลาย เมื่อพวกเจ้าต่างติดหนี้ยืมสินกัน ไม่ว่าหนี้สินใดก็ตาม จนกว่าจะถึงกำหนดเวลาใช้หนี้ที่ถูกระบุไว้ พวกเจ้าก็จงบันทึกมันไว้เถิด)) ท่านอิบนุอับบาส ร่อฎิยั้ลลอฮุอันฮุมา ได้กล่าวว่า “ฉันขอยืนยันว่า สัญญาสะลัฟที่ถูกประกันไว้ตามระยะเวลาที่ถูกระบุไว้นั้น อัลลอฮ์ได้ทรงอนุมัติไว้มันในคัมภีร์ของพระองค์” แล้วท่านก็ได้อ่านอายะฮ์ข้างต้น
(หลักฐานจากซุนนะฮ์) เมื่อท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้เดินทางมายังเมืองมะดีนะฮ์ ขณะนั้นชาวเมืองได้ทำการซื้อขายสะลัมกันในพืชผลเป็นระยะเวลาหนึ่งปี สองปี และสามปี ท่านกล่าวว่า ((ใครที่ทำการซื้อขายสะลัมกันในสินค้าหนึ่งสินค้าใด)) อีกสำนวนหนึ่ง ((ในพืชผลใด)) ((ก็จงทำสัญญาสะลัมโดยกำหนดจำนวนตวงที่ตกลงกัน จำนวนชั่งที่ตกลงกัน และระยะเวลาที่ตกลงกัน)) บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ และมุสลิม
และนี่ก็เป็นหลักฐานที่บ่งบอกว่าการซื้อขายแบบสะลัมตามเงื่อนไขดังกล่าวนั้นเป็นที่อนุญาต
(หลักฐานจากอิจญมาอ์) ท่านอิบนุ้ลมุนซิร และท่านอื่นๆได้รายงานว่า ปวงปราชญ์ได้มีมติเอกฉันท์ว่าการซื้อขายแบบสะลัมนั้นเป็นที่อนุญาต
แหล่งที่มา; หนังสือ “อัลมุลัคคอซอัลฟิกฮีย์” ของเชคซอและฮ์ บินเฟาซาน ฮะฟิเซาะฮุ้ลลอฮ์ เล่มที่ 2 หน้า 57-58