เงื่อนไขที่จะทำให้การซื้อขายใช้ได้
การซื้อขายจะใช้ได้นั้นจะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขต่างๆ โดยแบ่งออกเป็น
– เงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับคู่สัญญา และ
– เงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ถูกทำสัญญา(สินค้า)
หากขาดเงื่อนไขหนึ่งเงื่อนไขใดไป การซื้อขายจะถือว่าใช้ไม่ได้
เงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับคู่สัญญามีดังนี้ :
- ประการแรก: ความยินยอมที่มาจากทั้งสองฝ่ายการซื้อขายจะใช้ไม่ได้ หากหนึ่งในคู่สัญญาถูกบีบบังคับอย่างไม่เป็นธรรม ดังดำรัสของอัลลอฮ์ ตะอาลา ที่ว่า: {นอกจากว่าจะเป็นการค้าขายโดยได้รับความยินยอมจากพวกเจ้า} และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า : “การซื้อขายนั้นจะต้องมาจากความยินยอม” บันทึกโดย อิบนุฮิบบาน และอิบนุมาญะฮ์ และท่านอื่นๆ แต่หากการบีบบังคับนั้นเป็นที่ชอบธรรม การซื้อขายนั้นถือว่าใช้ได้ เช่น การที่ผู้พิพากษาตัดสินบังคับให้เขาขายทรัพย์สินเพื่อเอาไปใช้หนี้สินของเขา กรณีนี้ถือว่าเป็นการบีบบังคับโดยชอบธรรม
- ประการที่สอง: คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจะต้องเป็นผู้ที่ศาสนารับรองให้สามารถจับจ่ายใช้สอยได้ โดยการที่เขานั้นเป็นไท บรรลุศาสนภาวะ มีสติสัมปชัญญะ และเป็นผู้สามารถบริหารการใช้เงินได้ ดังนั้นการซื้อขายจะใช้ไม่ได้ จากเด็กเล็ก(ที่ยังไม่บรรลุวัยแยกแยะ) คนที่ไร้ความสามารถบริหารการใช้เงินได้ คนบ้า และทาสที่ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้านาย
- ประการที่สาม: คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจะต้องเป็นเจ้าของสิ่งที่ถูกทำสัญญา หรือเป็นตัวแทนเจ้าของ เพราะท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวกับฮะกีม บิน ฮิซามว่า “อย่าได้ขายสิ่งที่ท่านไม่มี” บันทึกโดย อิบนุมาญะฮ์ และอัตติรมิซีย์ โดยท่านให้สถานะเป็นหะดีษศ่อเฮี๊ยะฮ์ กล่าวคือ อย่าได้ขายสิ่งที่ไม่ได้อยู่ในความครอบครองของท่าน” ท่านอัลวะซีรกล่าวว่า: “มีมติเป็นเอกฉันท์ว่าไม่อนุญาตให้ขายสิ่งที่เขาไม่มี หรือไม่ได้เป็นเจ้าของ แล้วดำเนินการซื้อสิ่งนั้นต่อไป และนั่นถือเป็นโมฆะ”
ส่วนเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ถูกทำสัญญา(สินค้า)มีดังนี้:
- ประการแรก: จะต้องเป็นสิ่งที่อนุญาตให้ใช้ประโยชน์ได้(ตามหลักศาสนา) ดังนั้นจึงไม่อนุญาตให้ซื้อขายสิ่งที่(ศาสนา)ห้ามให้ใช้ประโยชน์ เช่น สุรา สุกร เครื่องดนตรี และสัตว์ที่ตายเอง ดังคําพูดของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่ว่า : “อัลลอฮ์ทรงห้ามการซื้อขายสัตว์ที่ตายเอง สุรา และรูปเคารพ” บันทึกตรงกันโดยอัลบุคอรีย์และมุสลิม และสิ่งที่ท่านอบูดาวูดได้บันทึกไว้เป็นสำนวนที่ว่า : “สุรานั้นเป็นที่ต้องห้าม รวมถึงราคาของมัน(การซื้อขาย) สัตว์ที่ตายเองนั้นเป็นที่ต้องห้าม รวมถึงราคาของมัน สุกรนั้นเป็นที่ต้องห้าม รวมถึงราคาของมัน” และไม่อนุญาตให้ขายไขมันสัตว์ที่เป็นนะญิส(สิ่งสกปรก) หรือมีนะญิสปนเปื้อน ดังคําพูดของท่านท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่ว่า : “เมื่ออัลลอฮ์ทรงห้ามสิ่งใด พระองค์ก็ทรงห้ามราคาของมันด้วย” และในบันทึกที่ตรงกันของท่านอัลบุคอรีย์ และมุสลิม ที่ว่า “ท่านคิดเห็นอย่างไรกับไขมันของสัตว์ที่ตายเอง มันสามารถเอามาใช้ทาเรือ ใช้ฟอกหนัง และผู้คนก็ใช้มัน(เป็นเชื้อเพลิง)จุดไฟ? ท่านนบีกล่าวว่า:”ไม่ได้ มันเป็นที่ต้องห้าม”
- ประการที่สอง: มีเงื่อนไขว่าสิ่งที่ถูกทำสัญญาในการซื้อขาย ทั้งราคาและสินค้านั้นจะต้องสามารถส่งมอบได้ เพราะสิ่งที่ไม่สามารถส่งมอบได้นั้น ก็เหมือนกับสิ่งที่ไม่มีอยู่ ดังนั้นการขายสิ่งดังกล่าวจึงใช้ไม่ได้ เช่น ขายทาสที่หลบหนีไป ขายอูฐที่หลุดไป ขายนกในอากาศ หรือขายของที่ถูกฉกชิงไปโดยไม่รู้ตัวผู้ที่ฉกชิง หรือไม่สามารถเอาคืนจากผู้ที่ฉกชิงไปได้
- ประการที่สาม: มีเงื่อนไขว่าทั้งราคาและสินค้านั้นจะต้องเป็นที่ทราบกัน ณ คู่สัญญา เพราะการไม่รู้รายละเอียด คือ ฆ่อร็อร(ความไม่ชัดเจน) ถือเป็นสิ่งต้องห้าม ดังนั้นการซื้อสิ่งที่เขาไม่เห็น หรือเห็นแต่ไม่รู้รายละเอียด(สิ่งที่จะซื้อ)นั้นใช้ไม่ได้ เช่นเดียวกันการซื้อขายลูกสัตว์ที่อยู่ในครรภ์ หรือนมที่อยู่ในเต้า โดยซื้อเฉพาะลูกสัตว์และนมนั้น รวมถึงการซื้อขายแบบ “มุลามะซะฮ์” นั่นก็คือการพูดว่า : เสื้อผ้าชิ้นไหนที่ท่านจับ ก็เท่ากับว่าท่านซื้อชิ้นนั้นแล้ว(โดยไม่ได้ดูก่อน) และการซื้อขายแบบ “มุนาบะซะฮ์” คือการพูดว่า : เสื้อผ้าชิ้นไหนที่ท่านโยนส่งมาให้ฉัน เท่ากับว่าฉันขายชิ้นนั้นให้คุณแล้ว ดังหะดีษของท่านอบูฮุรอยเราะฮ์ ร่อฎิยั้ลลอฮุอันฮุ ที่ว่า : “ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ห้ามการซื้อขายแบบมุลามะซะฮ์ และมุนาบะซะฮ์” บันทึกเห็นพ้องกันโดยอัลบุคอรีย์และมุสลิม
- และการซื้อขายแบบ “บัยอุ้ลฮะศอฮ์” นั้นใช้ไม่ได้ เช่นการพูดว่า: ให้โยนก้อนหินนี้ไป ถ้ามันตกใส่เสื้อผ้าชิ้นใด ชิ้นนั้นคือฉันขายให้ท่านแล้วในราคาเท่านี้
แหล่งที่มา; หนังสือ อัลมุลัคคอซ อัลฟิกฮีย์ ของเชคซอและฮ์ บินเฟาซาน ฮะฟิเซาะฮุ้ลลอฮ์ เล่มที่ 2 หน้าที่ 9-11