คำถาม : ข้อตัดสินของผู้ที่ละหมาดที่หันไม่ตรงกับทิศกิบละฮ์ โดยที่เขาได้พยายามตรวจสอบแล้ว ?
คำตอบ : เชค มูฮัมหมัด อิบนุ ซอและฮ์ อัลอุษัยมีน เราะฮิม่าฮุ้ลลอฮ์ ได้ตอบว่า
“เมื่อคนหนึ่งคนใดได้ใช้การวิเคราะห์ และพยายามหาทิศกิบละฮ์ให้ตรงอย่างเต็มที่แล้ว แต่ปรากฏว่ามันไม่ตรง การละหมาดของเขาถือว่าใช้ได้ ถึงแม้ว่าเขาจะหันไปทางทิศอื่นก็ตาม เพราะอัลลอฮ์ได้ทรงกล่าวไว้ว่า : (( พระองค์ไม่ได้บังคับชีวิตใด เว้นแต่เท่าที่เขาสามารถทำได้)) และอัลลอฮ์ได้กล่าวไว้อีกว่า ((จงยำเกรงต่ออัลลอฮ์เท่าที่พวกเจ้ามีความสามารถ))
แต่ถ้าหากเขาไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่จำเป็นต้องวิเคราะห์ อย่างเช่น กรณีที่เขาอยู่ในเมืองที่เขาสามารถสอบถามชาวเมืองนั้นได้ หรือมีเมียะฮ์รอบ(ส่วนที่อีหม่ามนำละหมาด)ตามมัสญิดที่บ่งบอกทิศกิบละฮ์อยู่ หรือในทำนองนี้ ในกรณีนี้หากเขา(มาทราบในภายหลังว่า)หันทิศผิด ก็จำเป็นที่เขาจะต้องละหมาดใหม่ เพราะเขาใช้การวิเคราะห์ในเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องใช้ เพราะคนที่อยู่ในเมืองสามารถถามชาวเมืองได้ หรือสังเกตจากเมียะฮ์รอบในมัสยิดที่บอกทิศกิบละฮ์ได้”
แหล่งที่มา; แหล่งที่มา; เว็บไซต์ของเชค มูฮัมหมัด อิบนุ ซอและฮ์ อัลอุษัยมีน เราะฮิม่าฮุ้ลลอฮ์
https://binothaimeen.net/s/35ONy0Op