คำถาม เหตุผลอันลึกซึ้งที่อัลลอฮ์ทรงกำหนดให้บ่าวของพระองค์ทำการถือศีลอดคืออะไร? ยิ่งไปกว่านั้นพระองค์ได้ทรงทำให้การถือศีลอดเป็นหนึ่งในรุก่น(เสาหลัก)ของอิสลามที่ความเป็นมุสลิม(ของคนๆหนึ่ง)จะไม่สามารถดำรงอยู่ได้หากขาดมันไป ทั้งที่การถือศีลอดนั้นมีแต่จะทำให้ร่างกายและจิตใจเหนื่อยล้า ต้องระงับสิ่งที่อยากทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นการกิน การดื่ม หรือการมีเพศสัมพันธ์ อีกทั้งยังทำให้เกิดความอ่อนเพลียทั้งใจและกาย โดยเฉพาะในช่วงวันที่มีเวลายาวนานและอากาศร้อน ที่ทำให้เกิดความยากลำบาก เราจะขอตอบว่า…?
คำตอบ ก่อนจะตอบ มีสิ่งที่เราต้องรู้ก็คือหนึ่งในพระนามของอัลลอฮ์ ตะอาลา ก็คือ “อัลฮะกีม” ซึ่งถูกระบุซ้ำในอัลกุรอ่านมากมาย อัลฮะกีม คือผู้ทรงมีฮิกมะฮ์(เหตุผลอันลึกซึ้ง)ในการวางสิ่งต่างๆในที่ที่เหมาะสมกับสิ่งเหล่านั้น (ดังดำรัสที่มีความว่า) “และใครเล่าที่จะมีข้อตัดสินดียิ่งกว่าอัลลอฮ์ สำหรับกลุ่มชนที่เชื่อมั่น” “มิใช่อัลลอฮ์กระนั้นหรือ ที่เป็นผู้ตัดสินที่ดีเยี่ยมในหมู่ผู้ตัดสินทั้งหลาย” และด้วยหลักศรัทธานี้เองที่มุสลิมทุกคนจำเป็นจะต้องเชื่อมั่นว่าอัลลอฮ์คือผู้ทรงมีฮิกมะฮ์ในการวางบทบัญญัติ และการกำหนดสภาวการณ์ของพระองค์ ด้วยเหตุนี้มุสลิมจึงพอใจและยอมรับในการวางบทบัญญัติของพระองค์ เช่นที่เขาพึงพอใจและยอมรับในกำหนดสภาวะการณ์ของพระองค์
อัลลอฮ์ ตะอาลา ตรัสไว้ความว่า “ไม่มีทุกข์ภัยอันใดเกิดขึ้น เว้นแต่ด้วยอนุมัติของอัลลอฮ์ และผู้ใดศรัทธาต่ออัลลอฮ์พระองค์จะทรงเปิดหัวใจของเขา (สู่แนวทางที่ถูกต้อง)” [ซูเราะฮ์ อัตตะฆอบุน อายะฮ์ที่ 11]
ท่านอัลก่อมะฮ์(หนึ่งในสานุศิษย์ของท่านอับดุลลอฮ์ อิบนุมัสอู๊ด ร่อฎิยั้ลลอฮุอันฮุ) ได้อธิบายอายะฮ์นี้ว่า : “คือคนๆหนึ่งที่เมื่อเขาประสบทุกข์ภัย แล้วเขารู้ว่าสิ่งนี้มาจากอัลลอฮ์ เขาจึงพอใจและยอมรับ” และเมื่อท่านหญิงอาอิชะฮ์ ร่อฎิยั้ลลอฮุอันฮา ได้ถูกถามว่า : “ทำไมหญิงมีประจำเดือนจึงต้องถือศีลอดชดใช้ แต่ไม่ต้องชดใช้ละหมาด? นางจึงตอบว่า : “ครั้งเมื่อเรามีประจำเดือน เราถูกสั่งใช้ให้ถือศีลอดชดใช้ แต่เราไม่ได้ถูกสั่งใช้ให้ชดใช้ละหมาด”
ดังนั้นหน้าที่ของมุสลิมคืออีหม่านต่อกำหนดสภาวะการณ์ของพระองค์ และอีหม่านต่อการวางบทบัญญัติและข้อตัดสินของพระองค์ ดังนั้นเราจึงกล่าวได้ว่า อัลลอฮ์มิได้ทรงกำหนดการถือศีลอดมาเว้นแต่ว่ามีฮิกมะฮ์อันยิ่งใหญ่อยู่ในนั้น ที่เด่นชัดและสำคัญที่สุดนั่นก็คือ เพื่อให้มีความยำเกรง(อัตตักวา)
คือความยำเกรงต่ออัลลอฮ์ ตะอาลา ดังที่พระองค์ตรัสไว้ความว่า : “บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย! การถือศีลอดนั้นได้ถูกกำหนดแก่พวกเจ้าแล้ว เช่นเดียวกับที่ได้ถูกกำหนดแก่บรรดาผู้ที่มาก่อนหน้าพวกเจ้า เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ยำเกรง” [ซูเราะฮ์ อัลบะก่อเราะฮ์ อายะฮ์ที่ 182] ละนี่ก็คือฮิกมะฮ์ ก็เพื่อให้มีความยำเกรงต่ออัลลอฮ์ ตะอาลา แม้กระทั่งท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมก็ยังได้กล่าวว่า : “เมื่อมีคนมาด่าทอหรือต่อว่าเขา ให้กล่าวไปว่า “ฉันถือศีลอดอยู่” นั่นก็คือการที่เขาจะไม่ด่าทอกลับไป หรือทำเช่นเดียวกับที่คนอื่นทำกับเขา แต่ให้กล่าวตอบไปว่า “ฉันถือศีลอดอยู่” เพราะผู้ที่ถือศีลอดนั้นจะไม่กระทำการด่าทอ หรือพูดจาไม่ดี โดยที่เขาจะต้องมีความสุขุม น่าเกรงขาม สงบเสงี่ยม และออกห่างจากสิ่งต้องห้ามต่างๆ รวมทั้งคำพูดที่ไม่ดี เพราะการถือศีลอดเป็นเสมือนเกราะป้องกันคนเราให้พ้นจากสิ่งที่อัลลอฮ์ทรงห้าม และป้องกันจากไฟนรกในวันกิยามะฮ์ และนี่ก็คือฮิกมะฮ์ที่สำคัญที่สุดของการถือศีลอด
หนึ่งในฮิกมะฮ์ของการถือศีลอดก็คือ เป็นการทำให้คนเราเคยชินกับการต้องเผชิญกับความลำบากและเหน็ดเหนื่อย เพราะความสุขสบายและการกินดีอยู่ดีนั้นมักจะเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์ตลอดเวลา จึงเป็นการดีที่จะทำให้ตนเองเคยชินกับความยากลำบากดูบ้าง
หนึ่งในฮิกมะฮ์ของการถือศีลอดก็คือ เป็นการปรามความระเริงของจิตใจ เพราะจิตใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขสบาย ทั้งการกิน การดื่ม และการมีเพศสัมพันธ์ ดังกล่าวเป็นบ่อเกิดแห่งความหลงระเริง โอหัง และหลงลืมเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน จึงทำให้คนเราเป็นเสมือนเดียรัจฉานที่มุ่งแต่จะทำให้ตนอิ่มท้อง และเสพกามไปวันๆ ดังนั้นเมื่อใดที่คนเราสามารถยับยั้งชั่งใจ ในการทำให้ตนเองเคยชินกับการเผชิญกับความลำบาก ความหิวกระหาย และการห่างไกลจากการมีเพศสัมพันธ์ เมื่อนั้นก็จะเป็นการขัดเกลาจิตใจเขาได้เป็นอย่างดี
หนึ่งในฮิกมะฮ์ของการถือศีลอดก็คือ เป็นการทำให้มนุษย์รำลึกถึงความเมตตาของอัลลอฮ์ อัซซะวะญัล ในการที่พระองค์ทรงอำนวยความสะดวกให้เขาได้กิน ดื่ม และมีเพศสัมพันธ์ เพราะคนเราจะรู้เช่นเห็นค่าของสิ่งหนึ่ง ก็ต่อเมื่อพานพบกับสิ่งที่ตรงข้ามกับสิ่งนั้น ดังที่มีคนกล่าวไว้ว่า “สิ่งต่างๆจะชัดเจนขึ้น เมื่อได้เจอกับสิ่งที่อยู่ตรงกันข้าม”
คนเราจะรู้เช่นเห็นค่าความโปรดปรานที่เขาได้รับ ก็ต่อเมื่อต้องสูญเสียมันไปก่อน ตอนนี้ลองมาดูตัวอย่างที่เห็นได้ชัด(นั่นก็คือ) หากลมหายใจถูกปิดกั้น หมายถึง หากคนเราไม่สามารถที่จะหายใจได้ แน่นอนว่าจะต้องประสบกับความยากลำบากอย่างมาก ทั้งๆที่เราสามารถหายใจไปในขณะที่เราพูดได้ สามารถหายใจไปในขณะที่เรากินได้ สามารถหายใจไปในขณะที่เราดื่มได้ สามารถหายใจไปในขณะที่เราตื่นอยู่ได้ สามารถหายใจไปในขณะที่เรานอนหลับได้ แต่เรากลับไม่รู้สึกถึงความโปรดปรานอันยิ่งใหญ่นี้
คนเราหายใจไปกี่ครั้งในหนึ่งนาที ในหนึ่งชั่วโมง ในหนึ่งวัน ในหนึ่งเดือน แต่เรากลับไม่รับรู้ถึงความโปรดปรานนี้ หรือปริมาณของความโปรดปรานนี้ที่เขาได้รับจนกว่าจะสูญเสียมันไป ด้วยเหตุนี้เองเมื่อคนเราเกิดอาการหายใจติดขัด จะพบว่ามันลำบากเป็นอย่างมาก(ขออัลลอฮ์ให้เราและท่านทั้งหลายมีสุขภาพดี) เขาจะไม่มีความสุขเลย แม้ในยามนอน ยามกิน ยามดื่ม หรือยามสนทนากับใคร ฉะนั้นเมื่อท่านถือศีลอด โดยหักห้ามตนเองจากการกิน ดื่ม หรือมีเพศสัมพันธ์ ก็จะทำให้ท่านรู้คุณค่าในปริมาณความโปรดปรานของอัลลอฮ์ที่มีต่อท่าน ที่ทรงให้ท่านสามารถกิน ดื่ม หรือมีเพศสัมพันธ์ได้ ดังนั้นการถือศีลอดจึงเป็นการทำให้ท่านนึกถึงความโปรดปรานของอัลลอฮ์นั่นเอง
หนึ่งในฮิกมะฮ์ที่อัลลอฮ์ทรงทำให้การถือศีลอดเป็นสิ่งจำเป็น(วาญิบ)ก็คือ การทำให้คนเรานึกถึงเพื่อนมนุษย์ด้วยกันที่ต้องประสบกับความหิวโหย อดอยาก หรือสูญเสียสมรรถภาพทางการมีเพศสัมพันธ์ ทำให้มีความรู้สึกเมตตาสงสารพวกเขา และส่งต่อการให้แก่พวกเขาในสิ่งที่อัลลอฮ์ทรงประทานให้กับเขา ด้วยเหตุนี้ท่านร่อซู้ล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมจึงนับว่าเป็นผู้ที่มีความใจบุญสุนทานมากที่สุด โดยที่ในเดือนร่อมะฎอนท่านจะเป็นผู้ใจบุญสุนทานมากกว่าเดือนอื่นๆ ท่านนบี อะลัยฮิซซ่อลาตุวัสสลาม มักจะบริจาคและมอบให้แก่ผู้อื่นอยู่เสมอๆ
การรำลึกถึงเพื่อนมนุษย์ที่มีความต้องการนั้น จะเป็นตัวผลักดันให้ท่านบริจาคทานให้กับพวกเขา มีน้ำใจและทำสิ่งดีๆกับพวกเขา ซึ่งฮิกมะฮ์อื่นๆในการถือศีลอดก็มีอีกมากมาย แต่ในปัจจุบัน เราจะพบว่าคนส่วนใหญ่นั้นไม่ว่าจะอยู่ในช่วงถือศีลอดหรือไม่ถือศีลอด ก็(มีพฤติกรรมที่)เหมือนๆกัน ท่านจะไม่พบเห็นคนที่ถือศีลอดอย่างสงบเสงี่ยม น่าเคารพ หรือออกห่างจากการด่าทอ โกหก หลอกลวงเลย วันถือศีลอดสำหรับเขากับวันธรรมดาทั่วไปนั้นไม่แตกต่างกันเลย ดังกล่าวถือเป็นความบกพร่องร้ายแรงในการถือศีลอด
แหล่งที่มา; หนังสือ “ญะละซาตร่อมะฎอนียะฮ์ ลิ้ลอุซัยมีน” ของเชคมุฮัมมัด บิน ซอและฮ์ อัลอุซัยมีน ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮ์ เล่มที่ 2 หน้า 2