สิ่งที่ทำให้เสียศีลอด
สิ่งที่ทำให้เสียศีลอดที่ถูกระบุไว้ในอัลกุรอานมี 3 ประการได้แก่ การกิน การดื่ม และการมีเพศสัมพันธ์ หลักฐานคือดำรัสของอัลลอฮ์ ตะอาลา ที่มีความว่า ((บัดนี้พวกเจ้าจงสมสู่กับพวกนางได้ และแสวงหาสิ่งที่อัลลอฮ์ได้ทรงกำหนดให้แก่พวกเจ้าเถิด และจงกิน และดื่ม จนกระทั่งเส้นขาว จะประจักษ์แก่พวกเจ้า จากเส้นดำ เนื่องจากแสงรุ่งอรุณ แล้วพวกเจ้าจงให้การถือศีลอดครบเต็มจนถึงพลบค่ำ)) (อัลบะกอเราะฮ์ อายะฮ์ที่ 187)
ในส่วนของ 1.การกินและ 2.การดื่มนั้น ไม่ว่าอาหารที่นั้นจะฮะล้าล(ทานได้) หรือฮะรอม(ทานไม่ได้) หรือไม่ว่าอาหารนั้นจะให้คุณประโยชน์ หรือให้โทษ หรือไม่ให้ทั้งคุณและโทษ หรือไม่ว่าอาหารนั้นจะมากหรือน้อย จากตรงนี้เองจึงกล่าวได้ว่า การสูบบุหรี่นั้นทำให้เสียศีลอด ถึงแม้ว่ามันจะให้โทษ และต้องห้ามก็ตาม บรรดาผู้รู้เองถึงขั้นที่บอกว่า หากมีใครกลืนลูกปัดเพียงเม็ดเดียวลงไปในลำคอ ก็ถือว่าเสียศีลอด ทั้งๆที่ลูกปัดนั้นไม่ได้ให้ประโยชน์ใดๆกับร่างกาย แต่ถึงกระนั้นมันก็ถูกนับว่าเป็นสิ่งที่ทำให้เสียศีลอด และถ้าหากมีใครที่กินแป้งที่นวดรวมกับสิ่งสกปรก(นะญิส) แน่นอนว่าเขานั้นเสียศีลอด ทั้งๆที่มันเป็นโทษ(กับร่างกาย)
3. การมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ทำให้เสียศีลอดที่หนักที่สุด เพราะจำเป็นต้องเสียกัฟฟาเราะฮ์(ค่าไถ่โทษ) นั่นก็คือ การทำการปล่อยทาส 1 คนให้เป็นอิสระ หากไม่พบให้ทำการถือศีลอด 2 เดือนติดต่อกัน หากไม่สามารถให้ทำการเลี้ยงอาหารแก่คนยากจน 60 คน
4. การมีน้ำอสุจิหลั่งออกมาโดยความใคร่ หากใครที่มีน้ำอสุจิหลั่งออกมาโดยความใคร่ถือว้เสียศีลอด แต่ไม่ต้องเสียกัฟฟาเราะฮ์ เพราะเป็นสิ่งที่กำหนดขึ้นในกรณีการมีเพศสัมพันธ์โดยเฉพาะ
5. การเจาะเส้นเลือดด้วยเข็ม(ให้น้ำเกลือ)ที่ทำให้ไม่ต้องกินต้องดื่ม ซึ่งถือเป็นการบำรุง(ร่างกาย) ส่วนการใช้เข็มฉีดยาที่ไม่ใช่การบำรุงร่างกายนั้นไม่ทำให้เสียศีลอด ไม่ว่าจะเป็นการเจาะผ่านเส้นเลือด หรือกล้ามเนื้อก็ตาม เพราะดังกล่าวไม่ถือเป็นการกินการดื่ม และไม่อยู่ในความหมายของคำว่ากินหรือดื่มแต่อย่างใด
6. การอาเจียนโดยเจตนา หากใครก็ตามที่อาเจียนโดยเจตนาถือว่าเสียศีลอด แต่ถ้าออกมาโดยควบคุมไม่ได้ ไม่ถือว่าเสียศีลอด
7. การมีเลือดประจำเดือน หรือเลือดหลังคลอดบุตรไหลออกมาจากสตรี ถึงแม้จะก่อนดวงอาทิตย์ตกแค่เพียงชั่วครู่เดียว ถือว่าเสียศีลอด แต่ถ้าหากมีเลือดหลังคลอดบุตร หรือเลือดประจำเดือนไหลออกมาหลังจากดวงอาทิตย์ตกไปแล้ว ถึงแม้จะชั่วครู่เดียว การถือศีลอดของนางยังถือว่าใช้ได้
8. การมีเลือดออกมาด้วยวิธีการกรอกเลือด(ฮิญามะฮ์) ดังที่ท่านร่อซู้ล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า “ทั้งผู้ที่ทำการกรอกเลือดให้ และผู้ถูกกรอกเลือดนั้นเสียศีลอด” ดังนั้นหากคนหนึ่งคนใดทำการกรอกเลือดแล้วปรากฎว่าเลือดไหลออกมา ถือว่าเสียศีลอด รวมถึงคนที่ทำการกรอกเลือดให้ด้วย หากเขาทำวิธีการดั้งเดิมที่เป็นที่รู้จักกันดีในสมัยของท่านร่อซู้ล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม คือการที่ผู้ทำการกรอกเลือดให้นั้น(ใช้ปาก)ดูดขวดแก้วให้เลือดไหลออกมา ส่วนการใช้อุปกรณ์ดูดเลือดที่ไม่ต้องใช้แรงช่วยของผู้ทำการกรอกเลือดให้ ในกรณีนี้ผู้ที่ถูกกรอกเลือดนั้นเสียศีลอด(แต่เพียงผู้เดียว) แต่ผู้ที่ทำการกรอกเลือดให้นั้นไม่เสีย
สิ่งที่ทำให้เสียศีลอดที่กล่าวมาข้างต้น หากเกิดขึ้นในช่วงกลางวันของเดือนรอมฎอนจากผู้ที่วาญิบต้องถือศีลอด จะมีผลติดตามมา 4 ประการด้วยกัน คือ
1. ได้รับบาป 2. เสียศีลอด 3. จำเป็นต้องอดต่อไปจนครบวัน(ละเว้นทุกสิ่งที่ทำให้เสียศีลอดหลังจากที่เขาเสียศีลอดไปแล้วจนกว่าดวงอาทิตย์ของวันๆนั้นจะตก) 4. จำเป็นต้องชดใช้
หากเสียศีลอดเนื่องจากการมีเพศสัมพันธ์ จะมีผลติดตามมาเป็นข้อที่ 5 นั่นก็คือการเสียกัฟฟาเราะฮ์
อีกประเด็นหนึ่งที่เราต้องทราบก็คือ สิ่งที่ทำให้เสียศีลอดที่กล่าวมาทั้งหมด จะส่งผลก็ต่อเมื่ออยู่ภายใต้เงื่อนไขทั้งสามประการดังต่อไปนี้
1. ทำไปโดยรู้ทั้งรู้ 2. ทำไปโดยรู้ตัว 3. ทำไปโดยเกิดจากความต้องการ
(เงื่อนไขที่หนึ่ง) หากผู้ถือศีลอดทำสิ่งที่ทำให้เสียศีลอดดังกล่าวโดยไม่รู้ การถือศีลอดของเขายังใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการไม่รู้เวลา หรือไม่รู้ฮุก่มก็ตาม คนที่ไม่รู้เวลายกตัวอย่างเช่น คนที่ตื่นนอนมาในช่วงท้ายคืน โดยนึกว่าแสงอรุณยังไม่ขึ้น แล้วทำการกินดื่ม จนมาทราบว่าแสงอรุณขึ้นไปแล้ว ในกรณีนี้การถือศีลอดของเขาใช้ได้ เพราะเขาไม่รู้เวลา
ส่วนคนที่ไม่รู้ฮุก่มยกตัวอย่างเช่น คนที่ถือศีลอดที่ทำการกรอกเลือดโดยไม่รู้ว่าการกรอกเลือดนั้นทำให้เสียศีลอด การถือศีลอดของเขาถือว่ายังใช้ได้ ดังหลักฐานที่อัลลอฮ์ ตะอาลา ทรงกล่าวว่า ((โอ้พระผู้เป็นเจ้าของเรา โปรดอย่าได้ทรงเอาผิดเราในสิ่งที่เราหลงลืม หรือทำผิดโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจด้วยเถิด)) (อัลบะก่อเราะฮ์ อายะฮ์ที่ 286) นี่เป็นหลักฐานจากอัลกุรอ่าน
ส่วนหลักฐานจากซุนนะฮ์ คือหะดีษของท่านหญิงอัสมาอ์ บินติ อบีบักร์ ร่อฎิยั้ลลอฮุอันฮุมา ที่ท่านอิหม่ามบุคอรีย์ได้บันทึกไว้ในหนังสือศ่อเฮียะฮ์ของท่าน โดยที่นางได้กล่าวว่า “พวกเราละศีลอดในวันที่ท้องฟ้าครึ้ม ในยุคสมัยที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ยังอยู่ แล้วดวงอาทิตย์ก็ปรากฏให้เห็น จึงกลายเป็นว่าพวกเขาละศีลอดในช่วงกลางวันโดยไม่รู้ โดยคิดไปว่าดวงอาทิตย์ตกไปแล้ว แล้วท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ก็ไม่ได้ใช้ให้เราถือศีลอดชดใช้(วันดังกล่าว) เพราะถ้าหากการถือศีลอดใช้ในกรณีนี้เป็นวาญิบ(จำเป็น) ท่านก็จะต้องสั่งใช้เราให้ทำ และถ้าท่านสั่งใช้ ก็ย่อมที่จะมีใครสักคนรายงาน(เรื่องดังกล่าว)มาถึงเรา แต่ถึงกระนั้นผู้ที่ละศีลอดโดยคาดการณ์ว่าดวงอาทิตย์ตกแล้ว แล้วมาทราบว่ายังไม่ตก ให้เขาอดต่อไปจนกว่าดวงอาทิตย์จะตก และการถือศีลอดของเขาก็ยังถือว่าใช้ได้
เงื่อนไขที่สอง คือการทำไปโดยรู้ตัว ที่ตรงกันข้ามคือการหลงลืม หากผู้ถือศีลอดกินดื่มโดยหลงลืม(ไปว่าตนเองกำลังถือศีลอด) การถือศีลอดของเขายังใช้ได้ ดังคำดำรัสของอัลลอฮ์ ตะอาลา ที่มีความว่า ((โอ้พระผู้เป็นเจ้าของเรา โปรดอย่าได้ทรงเอาผิดเราในสิ่งที่เราหลงลืม หรือทำผิดโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจด้วยเถิด)) (อัลบะก่อเราะฮ์ อายะฮ์ที่ 286) และคำกล่าวของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่ท่านอบูฮุร็อยเราะฮ์ ร่อฎิยั้ลลอฮุอันฮุ ได้รายงานว่า “ใครก็ตามที่หลงลืมว่ากำลังถือศีลอด แล้วไปกิน ดื่ม ก็จงถือศีลอดต่อไป เพราะอัลลอฮ์ได้ทรงให้อาหารและน้ำแก่เขา”
เงื่อนไขที่สาม ทำไปโดยเกิดจากความต้องการ หากผู้ถือศีลอดกระทำการใดที่เป็นสิ่งที่ทำให้เสียศีลอดโดยไม่ได้ต้องการหรือเลือกที่จะทำ การถือศีลอดของเขานั้นใช้ได้ เช่น หากเขาบ้วนปาก แล้วเผลอกลืนน้ำลงไปในท้องโดยไม่ได้ตั้งใจ การถือศีลอดของเขาถือว่าใช้ได้
หรือหากสามีบังคับภรรยาให้มีเพศสัมพันธ์ด้วย โดยที่นางไม่มีทางขัดขืน การถือศีลอดของนางยังถือว่าใช้ได้ เพราะนางไม่ได้ต้องการให้เกิดขึ้น หลักฐานในเรื่องนี้คือคำดำรัสของอัลลอฮ์ ตะอาลา ที่กล่าวถึงผู้ที่ถูกบังคับให้กล่าวคำกุฟร์(ที่ทำให้ตกศาสนา) ความว่า ((ผู้ใดที่ปฏิเสธอัลลอฮ์หลังจากที่เขาศรัทธาแล้ว ยกเว้นผู้ที่ถูกบังคับ โดยที่หัวใจของเขาเปี่ยมไปด้วยศรัทธา)) (อันนะฮ์ล อายะฮ์ที่ 106) หากใครก็ตามที่ถูกบังคับให้ละศีลอด หรือทำสิ่งที่ทำให้เสียศีลอดโดยไม่ได้เกิดจากความต้องการของตน การถือศีลอดของเขาถือว่ายังใช้ได้ ไม่มีผลอะไรในเรื่องดังกล่าว
แหล่งที่มา; “มัจญ์มูอ์ อัลฟะตาวา ว่ะร่อซาอิ้ลอัลอุซัยมีน” ของเชคมุฮัมมัด บินซอและฮ์ อัลอุซัยมีน ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮ์ เล่มที่ 19 หน้า 195-198