คำถาม เงื่อนไขของการละหมาด มีกี่ประการ
คำตอบ ชัยคุ้ลอิสลาม มุฮัมมัด บินอับดุ้ลวะฮาบ ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮ์ ได้กล่าวว่า
เงื่อนไขของการละหมาดมี 9 ประการ [1]
[1] เงื่อนไข หรือ อัชชัรฏ์ (الشرط)หมายถึง สิ่งที่ถ้ามีมัน จะมีฮุก่มเกิดขึ้นหรือไม่ก็ได้ แต่ถ้าไม่มีมันก็จะไม่เกิดฮุก่ม
1.การเป็นมุสลิม
ตรงข้ามกับการปฏิเสธศรัทธา เพราะผู้ปฏิเสธศรัทธา(กาฟิร)การงานที่เขาทำนั้นถูกตีกลับ ไม่ว่าเขาจะทำการงานใดก็ตาม(ก็จะไม่ถูกตอบรับ) อ้างอิงหลักฐานจากดำรัสของอัลลอฮ์ ตะอาลา ที่ว่า
((ما كان للمشركين أن يعمروا مساجد الله شاهدين على أنفسهم بالكفر أولئك حبطت أعمالهم وفي النار هم خالدون))
“ไม่บังควรแก่มุชริก(ผู้ตั้งภาคี)ทั้งหลายที่จะบูรณะ บรรดามัสญิดของอัลลอฮ์ ในฐานะที่พวกเขายืนยันการปฏิเสธศรัทธาแก่ตัวของพวกเขาเองแล้ว ชนเหล่านี้แหละบรรดาการงานของพวกเขาไร้ผล และในนรกนั้นพวกเขาจะอยู่ตลอดกาล”
[ ซูเราะฮ์อัตเตาบะหฺ – 17 ]
และดำรัสที่ว่า
((وقدمنا إلى ما عملوا من عمل فجعلناه هباء منثورا))
“และเรามุ่งสู่ส่วนหนึ่งของการงานที่พวกเขาได้ปฏิบัติไป แล้วเราจะทำให้มันไร้คุณค่ากลายเป็นละอองผุ่นที่ปลิวว่อน”
[ ซูเราะหฮ์อัลฟุรกอน – 23 ]
2.การมีสติสัมปชัญญะ
ตรงข้ามกับคำว่าการเป็นบ้า เพราะคนที่เป็นบ้านั้น ปากกาจะถูกยกออก(ไม่ถูกบันทึกความดี-ความชั่ว) จนกว่าเขาจะได้สติกลับคืนมา อ้างอิงหลักฐานจากหะดีษที่ว่า (ปากกาจะถูกยกออกจากสามจำพวกต่อไปนี้ คนนอนหลับจนกว่าเขาจะตื่น คนบ้าจนกว่าเขาจะได้สติ และเด็กจนกว่าเขาจะบรรลุศาสนภาวะ)
3.บรรลุวัยแยกแยะ
ตรงข้ามกับการเป็นเด็ก โดยขอบเขตของวัยแยกแยะคือ(เด็กที่มีอายุครบ)เจ็ดขวบ ซึ่งเป็นวัยที่ถูกสั่งใช้ให้ฝึกละหมาด ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า (พวกท่านจงสั่งใช้ลูกๆของท่านให้ละหมาดเมื่อพวกเขามีอายุเจ็ดขวบ และจงตี(สั่งสอน)พวกเขา(หากไม่ละหมาด)เมื่ออายุสิบขวบ และจงจับพวกเขาแยกที่นอน)
4.ปราศจากการมีฮะดัษ[2]
หมายถึง การมีน้ำละหมาดที่เป็นที่ทราบกันดี ซึ่งสิ่งที่ทำให้จำเป็นต้องอาบน้ำละหมาด ก็คือการมีฮะดัษ
[2]ฮะดัษมี 2 ประเภท 1. ฮะดัษเล็ก คือ การไม่มีน้ำละหมาด 2. ฮะดัษใหญ่ คือ การมีญะนาบะฮ์(การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยา หรือการมีน้ำอสุจิเคลื่อนออกมา รวมถึงการมีประจำเดือน และเลือดหลังคลอดบุตร) ซึ่งสิ่งที่จะสามารถยกฮะดัษนี้ออกไปได้ คือการอาบน้ำยกฮะดัษ หรือ อัลฆุสล์
5.การขจัดนะญิซ[3] ให้สะอาดเกลี้ยงเกลาจาก 3 สิ่ง คือ ร่างกาย เสื้อผ้า(ที่สวมใส่ละหมาด) และสถานที่(ที่ใช้ละหมาด) อ้างอิงหลักฐานจากคำตรัสของอัลลอฮ์ ตะอาลาที่ว่า
(( وثيابك فطهر))
“และเสื้อผ้าของเจ้า จงทำให้สะอาด”
[ ซูเราะหฺอัลมุดดัษษิร – 4 ]
[3] สิ่งสกปรกตามบัญญัติอิสลาม
6.ปกปิดเอาเราะฮ์[4]
บรรดานักวิชาการมีมติเอกฉันท์ว่า การละหมาดของผู้ที่ไม่สวมใส่เสื้อผ้าที่มีความสามารถ(ในการหาเสื้อผ้ามาสวมใส่ปกปิดเอาเราะฮ์ได้)นั้นเป็นโมฆะ ซึ่งขอบเขตเอาเราะฮ์ของผู้ชาย คือตั้งแต่สะดือถึงหัวเข่า ทาสหญิงก็เช่นกัน ส่วนผู้หญิงที่ไม่ใช่ทาส เอาเราะฮ์ของพวกนางคือร่างกายทั้งหมด ยกเว้นใบหน้าอ้างอิงหลักฐานจากคำตรัสของอัลลอฮ์ ตะอาลาที่ว่า
(( يا بني آدم خذوا زينتكم عند كل مسجد ))
“ลูกหลานของอาดัมเอ๋ย จงเอาเครื่องประดับกายของพวกเจ้า ณ ทุกมัสยิด”
[ ซูเราะฮ์อัลอะอ์รอฟ – 31 ]
หมายถึง ทุกๆครั้งที่จะทำการละหมาด
[4]ส่วนต่างๆของร่างกายที่พึงปกปิดตามบัญญัติอิสลาม
7.เข้าเวลาละหมาด
อ้างอิงหลักฐานจากซุนนะฮ์ จากฮะดีษที่ท่านญิบรีล อะลัยฮิสลาม นำละหมาดท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ในตอนต้นเวลา และท้ายเวลาละหมาด แล้วกล่าวกับท่านว่า “มุฮัมมัดเอ๋ย การละหมาดนั้นอยู่ระหว่างสองเวลาดังกล่าวนี้”
และคำตรัสของอัลลอฮ์ ตะอาลา ที่ว่า
((إن الصلاة كانت على المؤمنين كتابا موقوتا))
“แท้จริงการละหมาดนั้นเป็นบัญญัติที่ถูกกำหนดเวลา ไว้แก่ผู้ศรัทธาทั้งหลาย”
[ ซูเราะฮ์อันนิซาอ์ – 103 ]
หมายถึง ถูกกำหนดให้เป็นฟัรฎู(สิ่งจำเป็น)ตามระยะเวลา(ที่ศาสนาบัญญัติไว้)
ส่วนหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับเวลาต่างๆนั้นอ้างอิงจากคำตรัสของอัลลอฮ์ ตะอาลาที่ว่า
((أقم الصلاة لدلوك الشمس إلى غسق الليل وقرآن الفجر إن قرآن الفجر كان مشهودا))
“จงดำรงการละหมาดไว้ตั้งแต่ตะวันคล้อยจนพลบค่ำ และการอ่านยามรุ่งอรุณ จริงการอ่านยามรุ่งอรุณนั้นเป็นพยานยืนยันเสมอ”
[ ซูเราะฮ์อัลอิสรออ์ – 78 ]
8.การผินหน้าไปทางทิศกิบละฮ์
อ้างอิงหลักฐานจากคำตรัสของอัลลอฮ์ ตะอาลาที่ว่า
((قد نرى تقلب وجهك في السماء فلنولينك قبلة ترضاها فول وجهك شطر المسجد الحرام وحيث ما كنتم فولوا وجوهكم شطره))
“แท้จริงเราเห็นใบหน้าของเจ้าแหงนไปยังฟากฟ้าบ่อยครั้ง แน่นอนเราให้เจ้าผินไปยังทิศ ที่เจ้าพึงใจ ดังนั้นเจ้าจงผินใบหน้าของเจ้าไปทางมัสยิดอัลฮะรอมเถิด และที่ใดก็ตามที่พวกเจ้าอยู่ ก็จงผินใบหน้าของพวกเจ้าไปทางทิศนั้น”
[ ซูเราะฮ์อัลบะกอเราะฮ์ – 144 ]
9.การตั้งเจตนา
ซึ่งตำแหน่งของมันก็คือ การตั้งเจตนาในใจ ส่วนการกล่าวออกมาเป็นคำพูดนั้น เป็นบิดอะฮ์ อ้างอิงหลักฐานจากฮะดีษของท่านร่อซู้ล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่ว่า (ทุกๆการงานนั้นขึ้นอยู่กับเจตนา และทุกๆคนจะได้รับตามแต่ที่เขาได้ตั้งเจตนาไว้)
แหล่งที่มา; หนังสือ “ชุรูฏุศศ่อลาฮ์ วะอัรกานุฮา วะวาญิบาตุฮา” ของเชคมุฮัมมัด บินอับดุลวะฮาบ เล่มที่ 3 หน้า 4-6