คำถาม วัยรุ่นบางคนในยุคปัจจุบันได้จดจ่ออยู่กับการทบทวนบทเรียนในวิชาหะดีษ ตัฟซีร เตาฮีด และฟิกฮ์เพียงอย่างเดียว แต่ปล่อยปละละเลยในวิชาการด้านอื่น ๆ เช่น วิชาคณิตศาสตร์ วิชาวิทยาศาสตร์, ซึ่งเราเห็นว่าพวกเขาดูเหมือนจะสุดโต่งเกินไปในเรื่องศาสนา, ด้วยเหตุนี้ท่านมีคำชี้แนะตักเตือนแก่พวกเขาว่าอย่างไรบ้างครับ ?
คำตอบ ไม่ต้องแปลกเลยใจกับคำถามที่ผู้ถามได้กล่าวมานี้ ที่ว่าความรู้นั้นไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ความรู้ด้านศาสนาเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นวิชาตัฟซีร (วิชาอรรถาธิบายอัลกุรอ่าน) วิชาหะดีษ (วิชาว่าด้วยวจนะของท่านร่อซู้ล ﷺ) วิชาเตาฮีด (วิชาการให้เอกภาพแด่อัลลอฮ์) วิชาฟิกฮ์ (วิชานิติศาสตร์อิสลาม) หรือวิชาอื่น ๆ (ในด้านศาสนา)ที่เกี่ยวข้อง เพราะในความเป็นจริงนั้น ความรู้ยังครอบคลุมมากกว่าวิชาด้านศาสนา เพียงแต่ว่าความรู้ที่ถูกยกย่องสรรเสริญในทุกกรณีนั้นคือความรู้ด้านศาสนาที่อัลลอฮ์ทรงกำชับใช้ (ให้เรียนรู้ศึกษา) ซึ่งถือเป็นความรู้ที่ประเสริฐ โดยอัลลอฮได้ตรัสไว้เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า : إِنَّمَا يَخْشَى اللَّهَ مِنْ عِبَادِهِ الْعُلَمَاءُ “แท้จริงบรรดาผู้ที่มีความรู้จากปวงบ่าวของพระองค์เท่านั้นที่เกรงกลัวอัลลอฮฺ” (อัลกุรอ่าน 35:28) และพระองค์ได้ตรัสอีกว่า : يرفع الله الذين آمنوا منكم وَٱلَّذِينَ أُوتُواْ ٱلْعِلْمَ دَرَجَـٰتٌ “อัลลอฮฺจะทรงยกย่องเทิดเกียรติมากมายหลายขั้นให้แก่บรรดาผู้ศรัทธาในหมู่พวกเจ้า และบรรดาผู้ได้รับความรู้” (อัลกุรอ่าน 58:11) และท่านร่อซู้ล ﷺ ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ด้วยว่า : “ผู้ใดที่ยึดหนทางที่นำไปสู่การแสวงหาความรู้ อัลลอฮ์จะทรงทำให้หนทางไปสู่สวรรค์ของเขาคนนั้นง่ายดาย”1 และท่านร่อซู้ล ﷺ ยังได้กล่าวอีกว่า : “ผู้ใดที่อัลลอฮ์ประสงค์จะให้เขาได้รับความดีงาม อัลลอฮ์จะทรงทำให้เขาเข้าใจศาสนา”2
ส่วนศาสตร์ความรู้ด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับทางโลกนั้นถือเป็นความรู้ที่มุบาฮ์ (คือเป็นที่อนุญาตและเปิดกว้างให้ศึกษาเรียนรู้ โดยจะเรียนหรือไม่เรียนก็ได้ ไม่ผิดหลักการศาสนา – เพิ่มเติม) ซึ่งเป็นความรู้ที่หากว่ามนุษย์ได้นำไปใช้เป็นสื่อไปสู่ความดีงาม ความรู้นั้นก็ถือได้ว่าเป็นความรู้ที่ดี แต่หากว่ามนุษย์นำมันไปใช้เป็นสื่อไปสู่ความชั่ว ความรู้นั้นก็ถือได้ว่าเป็นความรู้ที่ชั่วร้าย ดังนั้นมันจึงเป็นความรู้ที่ไม่ถูกยกย่องสรรเสริญและไม่ถูกตำหนิโดยตัวของมัน โดยขึ้นอยู่กับว่ามันถูกนำไปใช้ในทางใด และนอกจากนี้ยังมีองค์ความรู้อีกแขนงหนึ่ง ซึ่งเป็นความรู้ที่อันตราย บางทีก็เป็นอันตรายในเรื่องอะกีดะฮ์ (หลักยึดมั่นศรัทธา) และบางทีก็เป็นอันตรายในเรื่องอัคลาก (จรรยามารยาท) และบางทีก็เป็นอันตรายในด้านความประพฤติ) ดังนั้นความรู้เหล่านี้จึงเป็นที่สิ่งที่ต้องห้ามในทุกกรณี
ด้วยเหตุนี้ ความรู้จึงมีอยู่ด้วยกันสามประเภท ดังนี้ :
• หนึ่ง : ความรู้ที่ได้รับการยกย่องสรรเสริญในทุกกรณี
• สอง : ความรู้ที่ได้รับการตำหนิในทุกกรณี
• สาม : ความรู้ที่อนุญาต(ให้ศึกเรียนรู้ได้) ซึ่งคำตำหนิ หรือคำยกย่องชมเชยสำหรับความรู้ประเภทนี้ ขึ้นอยู่กับว่ามันถูกนำไปใช้ในด้านใด (คือหากใช้ความรู้นี้เป็นสื่อไปสู่สิ่งที่ผิด มันก็คือความรู้ที่จะได้รับคำตำหนิ แต่หากว่าความรู้นี้เป็นสื่อไปสู่ความดีงาม ความรู้นี้ก็จะได้รับคำชื่นชม – เพิ่มเติม)
ส่วนตัวบทหลักฐานทางศาสนาที่ระบุถึงความประเสริฐของความรู้ และ(ตัวบท)ที่ส่งเสริมในเรื่องการแสวงหาความรู้นั้นจะเกี่ยวข้องกับความรู้ประเภทที่หนึ่งเท่านั้น(ความรู้ด้านศาสนา) ก็คือความรู้ที่ถูกยกย่องชื่นชมในทุกกรณี รวมถึงความรู้ต่างๆทางโลกที่มีประโยชน์แก่ผู้คนและไม่ทำให้พวกเขาหันเหออกจากสิ่งที่มีความสำคัญมากกว่า ก็ถือว่าการศึกษาความรู้วิชานั้นได้รับคำชื่นชมเช่นเดียวกัน เนื่องจากความรู้ดังกล่าวได้เป็นสื่อที่นำไปสู่สิ่งมีประโยชน์(แก่มนุษยชาติ)ทั้งในวงกว้างและวงแคบ และไม่สมควรอย่างยิ่งที่เราจะไปมองข้ามความรู้(ทางโลก)เหล่านี้ อันเป็นเหตุให้เราไม่ให้คุณค่าแก่มันในกรณีที่มันมีคุณประโยชน์แก่ผู้คน
ส่วนคำกล่าวของผู้ถามที่ว่า …เขาเห็นว่านักศึกษาศาสนาบางคนนั้น ดูเหมือนจะสุดโต่งเกินไปในเรื่องศาสนา ซึ่งที่จริงแล้วความสุดโต่งและความหย่อนยานนั้นขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน โดยมนุษย์บางคนอาจจะมองสิ่งหนึ่งว่าเป็นเรื่องที่เข้มงวดเกินไป ทั้ง ๆ ที่สิ่งนั้นในมุมมองของผู้อื่นมันเป็นเรื่องที่สะดวกง่ายดาย หรือบางคนอาจมองสิ่งหนึ่งว่าเป็นเรื่องที่สะดวกง่ายดาย แต่ในมุมมองของผู้อื่นมันเป็นเรื่องที่เข้มงวดเกินไป ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว มาตรฐานที่ใช้เป็นเกณฑ์ชี้วัดในเรื่องนี้คือสิ่งที่สอดคล้องกับบทบัญญัติศาสนาที่ประมวลอยู่ใน(พื้นฐาน)ของอัลกุรอ่าน และแบบฉบับของท่านร่อซู้ล ﷺ ซึ่งหากสิ่งที่พวกเขาปฏิบัติอยู่นั้นสอดคล้องกับอัลกุรอ่านและอัซซุนนะฮ์ สิ่งนั้นก็ไม่ถือว่าเป็นความสุดโต่งแต่อย่างใด ทว่ามันคือสิ่งที่สะดวกและง่ายดาย ถึงแม้ว่าพวกชอบหย่อนยาน(ในเรื่องศาสนา)บางคนจะมองว่าสิ่งนั้นมันเป็นความสุดโต่งก็ตาม ซึ่งมุมมองของเขาในลักษณะนี้ ก็ไม่ใช่สิ่งที่เราจะต้องนำมาใส่ใจ เพราะสิ่งใดก็ตามที่สอดคล้องกับอัลกุรอ่านและอัซซุนนะฮ์ สิ่งนั้นย่อมถือว่าเป็นเรื่องที่สะดวกง่ายดาย ; เนื่องจากท่านร่อซู้ล ﷺ ได้กล่าวว่า : “แท้จริงศาสนานี้ (อิสลาม) มีความสะดวกง่ายดาย…”3 เพียงแต่พวกที่ชอบหย่อนยาน(ในเรื่องศาสนา) มักจะปฏิเสธคัดค้านต่อสิ่งหนึ่งที่เป็นบทบัญญัติของอิสลาม และคิดไปเองว่าการเคร่งครัดในสิ่งเหล่านั้นคือความสุดโต่ง (เข้มงวด ดูยาก) เขาจึงทะเล่อทะล่าไปกล่าวหาผู้ที่เคร่งครัดในหลักคำสอนศาสนาว่าเป็นพวกสุดโต่งในเรื่องศาสนา ซึ่งเราเองไม่ปฏิเสธว่ามันมีคนบางจำพวกที่ชอบทำให้เรื่องศาสนาให้เป็นเรื่องยากและสุดโต่ง และไปเพิ่มกฎเกณฑ์ที่ยากลำบากในศาสนา จนไปตำหนิคนที่เห็นต่างกับตนเองในประเด็นที่ศาสนาเปิดกว้างในการวินิจฉัย(อิจติฮาด) หรือในเรื่องที่อนุญาตให้มวลมุสลิมมีความเห็นต่างกันได้ ดังนั้นคนเหล่านี้(คนที่ทำให้ศาสนาเป็นเรื่องยาก และตำหนิคนที่เห็นต่างในประเด็นที่เปิดกว้าง – เพิ่มเติม) จะไม่ถูกนำมาพิจารณาหรือใส่ใจแต่อย่างใด (ไม่ถูกให้ค่า) เนื่องจากพวกเขาคือกลุ่มคนที่สุดโต่ง, และเช่นกันในอีกกรณีก็คือบรรดาพวกที่ชอบปล่อยปละละเลย หรือมองว่าการยึดมั่นในบทบัญญัติศาสนาคือความสุดโต่ง คนพวกนี้ก็จะไม่ถูกนำมาพิจารณาหรือใส่ใจแต่อย่างใด (ไม่ถูกให้ค่า) เช่นกัน เนื่องจากพวกเขาคือพวกที่หย่อนยาน(ในเรื่องศาสนา) และศาสนา(อิสลาม)นั้นอยู่ระหว่างความสุดโต่งเกินเลยกับความหย่อนยา
แหล่งที่มา; จากหนังสือ “กิตาบุ้ลอิลม์” ของอัชชัยค์ อัลอัลลามะฮ์ มุฮัมมัด บิน ศอและฮ์ อัลอุษัยมีน (หน้า 30-32)
- บันทึกโดยมุสลิม, ภาค : การรำลึกและการขอพร, บทว่าด้วย : ความประเสริฐของการรวมตัวเพื่ออ่านอัลกุรอ่านและการรำลึกถึงอัลลอฮ์, หะดีษหมายเลขที่ (2699), จากหะดีษของท่านอบู ฮุร็อยเราะฮ์ – ร่อฏิยัลลอฮุอันฮุ – ↩︎
- บันทึกโดยอัลบุคอรีย์, ภาค : ความรู้, บทว่าด้วย : ผู้ใดที่อัลลอฮ์ประสงค์ให้เขาได้รับความดีพระองค์จะให้เขาเข้าใจศาสนา, หะดีษหมายเลขที่ (71), และมุสลิม, ภาค : ซะกาต, บทว่าด้วย : การห้ามในการขอ, หะดีษหมายเลขที่ (1037), หะดีษจากท่านมุอาวิยะฮ์ – ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ – ↩︎
- บันทึกโดยอัลบุคอรีย์, ภาค : การศรัทธา, บทว่าด้วย : ศาสนานั้นเป็นเรื่องง่าย, หมายเลขหะดีษที่ (39), หะดีษจากท่านอบูฮุร็อยเราะฮ์ – ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ – ↩︎