คำถาม อนุญาตให้มุสลิมอ่านอัลกุรอ่านโดยไม่คำนึงถึงหลักตัจญวีดหรือไม่ ?
คำตอบ ใช่ ดังกล่าวเป็นที่อนุญาต ตราบใดที่เขาไม่ได้อ่าน(ฐานเกิดตัวอักษร)ผิดเพี้ยน หากอ่านผิด จำเป็นที่เขาจะต้องแก้ไข(การอ่านตัวอักษร)ให้ถูกต้อง ส่วนตัจญวีดนั้น ไม่ใช่เรื่องจำเป็น เพราะตัจญวีดเป็นการทำให้คำสละสลวยขึ้นเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่ามันก็เป็นสิ่งที่ดี และมาเติมเต็มการอ่านให้ไพเราะมากขึ้น แต่การบอกว่าวาญิบ(จำเป็น)ต้องอ่านให้ถูกหลักตัจญวีด ถ้าไม่เช่นนั้นจะบาป คำพูดนี้ไม่มีหลักฐานแต่อย่างใด ยิ่งไปกว่านั้นหลักฐานที่ถูกต้องยังย้อนแย้งกับคำพูดดังกล่าวอีกด้วย เพราะอัลกุรอ่านถูกประทานลงมาถึง 7 รูปแบบการอ่าน เพื่อที่ว่าผู้คนจะได้อ่านตามสำเนียงภาษาของตน แต่ในภายหลัง เกรงว่าจะเกิดความขัดแย้ง และแตกแยกในหมู่พี่น้องมุสลิม จึงให้พวกเขาอ่านแค่เพียงรูปแบบเดียวนั่นก็คือ ภาษากุเรช ซึ่งเกิดขึ้นในยุคของท่านค่อลีฟะฮ์อุสมาน บินอัฟฟาน ร่อฎิยั้ลลอฮุอันฮุ ดังกล่าวนับว่าเป็นหนึ่งในความประเสริฐ เป็นจุดเด่น และเป็นการเอาใจใส่ประชาชนในยุคการเป็นค่อลีฟะฮ์ของท่านเป็นอย่างดี ในการที่ท่านสามารถรวมให้ผู้คนอ่านอัลกุรอ่านในรูปแบบเดียว เพื่อที่จะได้ไม่เกิดการขัดแย้ง
สรุปก็คือ การอ่านอัลกุรอ่านให้ถูกหลักตัจญวีดนั้นไม่ใช่เรื่องจำเป็น แต่ที่จำเป็นก็คือการใส่สระและออกเสียงตัวอักษรให้ถูกต้องแม่นยำตามความหมายและฐานเกิดของมัน เช่น การไม่อ่านออกเสียงตัว “รออ์” เป็นตัว “ลาม” หรือเปลี่ยนตัว “ซาล” เป็นตัว “ซาย” หรือในทำนองเดียวกัน ถ้าเป็นในลักษณะนี้ถือว่าเป็นเรื่องต้องห้าม
แหล่งที่มา; ฟะตาวานู้รอะลัรดัรบ์ของเชคอุซัยมีน ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮ์ เล่มที่ 5 หน้าที่ 2