เป็นผู้ป่วยนอนติดเตียง ยังจำเป็นต้องละหมาด และถือศีลอดอยู่หรือไม่ ?

·

คำถาม  หญิงชราคนหนึ่งมีอายุ 85 ปี เป็นผู้ป่วยนอนติดเตียง ไม่สามารถลุกขึ้นยืนได้ แม้กระทั่งลุกไปทำธุระส่วนตัวของนาง(ที่ห้องน้ำ) คำถามก็คือ นางยังจำเป็นต้องละหมาดและถือศีลอดอยู่หรือไม่ครับ ?

คำตอบ หากนางมีสภาพตามที่ระบุมา นางยังจำเป็นต้องละหมาดอยู่ หากนางยังมีสติและสามารถควบคุมการปฏิบัติละหมาดได้ โดยให้ปฏิบัติละหมาดตามความสามารถของนาง แม้จะด้วยการใช้สัญญาณ (หรือการเคลื่อนไหวร่างกายเพียงเล็กน้อย)ก็ตาม ;

ทั้งนี้อัลลอฮ์ ตะอาลา ได้ตรัสว่า :
فَاتَّقُوا اللَّهَ مَا اسْتَطَعْتُمْ
“พวกเจ้าจงยำเกรงต่ออัลลอฮ์ตามความสามารถของพวกเจ้า” (อัตตะฆอบุน : 16)

และดำรัสของพระองค์ที่ว่า :
لاَ يُكَلِّفُ اللَّهُ نَفْسًا إِلا وُسْعَهَا
“อัลลอฮฺจะไม่ทรงบังคับชีวิตหนึ่งชีวิตใดนอกจากตามความสามารถของชีวิตนั้นเท่านั้น” (อัลบะเกาะเราะฮ์ : 286)

นอกจากนี้ยังมีรายงานที่ถูกต้องจากท่านนบี ﷺ ว่า ท่านนบี ﷺ ได้กล่าวว่า :
“เมื่อฉันสั่งให้พวกท่านทำสิ่งใด ก็จงปฏิบัติตามความสามารถของพวกท่าน”

และท่านนบี ﷺ ยังได้เคยกล่าวกับท่านอิมรอน บิน ฮุศ็อยน์ (ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ) ความว่า :
“จงละหมาดในท่ายืน , หากท่านไม่สามารถทำได้ ก็ให้ละหมาดในท่านั่ง , และหากท่านไม่สามารถทำได้ ก็ให้ละหมาดในท่านอนตะแคง” บันทึกโดยอิม่ามบุคอรี

และท่านอิม่ามนะซาอีย์ได้รายงานเพิ่มเติมด้วยสายรายงานที่ถูกต้องว่า : “หากไม่สามารถ (ละหมาดในท่านอนตะแคง) ก็ให้ละหมาดในท่านอนหงาย”

และหากนางมีเรี่ยวแรงพอที่จะถือศีลอดได้ ก็ให้นางถือศีลอด แต่หากการถือศีลอดเป็นเรื่องยากลำบากแก่นาง ก็ให้นางชดเชยโดยนำอาหารมอบให้กับคนยากจนหนึ่งคนต่อหนึ่งวัน ทำแบบนี้ทุกวัน(ตลอดเดือนรอมฎอน) , และนางไม่จำเป็นต้องถือศีลอดชดใช้ในภายหลัง ซึ่งวิธีการชดเชย(ด้วยการให้อาหารแก่ผู้ยากไร้แทนการถือศีลอด) นี้ นางสามารถให้เป็นอาหารในปริมาณครึ่งหนึ่งของศออ์ (หรือประมาณ 1.5 กิโลกรัม) จากข้าวสาลี ข้าวสาร หรือสิ่งที่คล้ายกันที่เป็นอาหารหลักของผู้คนในพื้นที่นั้น , แต่หากนางไม่มีสติสัมปชัญญะ ก็ไม่จำเป็นต้องละหมาดหรือถือศีลอดแต่อย่างใด

แหล่งที่มา; : ฟะตาวา อัลลัจนะฮ์อัดดาอิมะฮ์ (เล่ม 10 หน้า 165-166)