ซุนนะฮ์และบิดอะฮ์ในเดือนมุฮัรรอม : อ.ดาวุด รอมาน
มุหัรร็อมเป็นเดือนลำดับแรกของปฏิทินอิสลาม เป็นเดือนที่มีความสำคัญอย่างยิ่งอีกหนึ่งเดือน เป็นเดือนที่มีซุนนะฮฺให้ถือศีลอด เป็นเดือนที่มีวันสำคัญและเป็น 1 ใน 4 เดือนต้องห้ามก่อสงคราม
อัลลอฮฺซุบฮานะฮูวะตะอาลากล่าวไว้ว่า
[إِنَّ عِدَّةَ الشُّهُورِ عِنْدَ اللَّهِ اثْنَا عَشَرَ شَهْرًا فِي كِتَابِ اللَّهِ يَوْمَ خَلَقَ السَّمَاوَاتِ وَالْأَرْضَ مِنْهَا أَرْبَعَةٌ حُرُمٌ] التوبة 36
“แท้จริงจำนวนเดือน ณ อัลลอฮ์นั้นมีสิบสองเดือน ในคัมภีร์ของอัลลอฮ์ตั้งแต่วันที่พระองค์ทรงสร้างบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดินจากเดือนเหล่านั้นมีสี่เดือน ซึ่งเป็นเดือนที่ต้องห้าม…” (อัตเตาบะฮฺ : 36)
เดือนต้องห้ามทั้ง 4 เดือน คือเดือนซุลเกาะดะฮฺ ซุลหิจญะฮฺ และมุหัรร็อม และเดือนเราะญับ ซึ่งมีรายงานจากท่านอบูบักเราะฮฺว่า ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้กล่าวว่า
اَلسَّنَةُ اثْنَا عَشَرَ شَهْرًا مِنْهَا أَرْبَعَةٌ حُرُمٌ ثَلاَثَةٌ مُتَوَالِيَاتٌ ذُوْ الْقَعْدَةِ وَذُوْ الْحِجَّةِ وَالْمُحَرَّمُ وَرَجَبُ مُضَرَ الَّذِيْ بَيْنَ جَمَادَى وَشَعْبَانَ ] رواه البخاري ومسلم
“…หนึ่งปีมีสิบสองเดือน ในจำนวนเดือนเหล่านั้นมีสี่เดือนต้องห้าม สามเดือนอยู่ติด กัน คือ ซุลเกาะดะฮฺ ซุลหิจญะฮฺ มุหัรร็อม และเดือน เราะญับ ซึ่งอยู่ ระหว่างเดือนญะมาดา และชะอฺบาน ” (บันทึกโดยบุคอรียฺ มุสลิม )
คำว่า “เดือนต้องห้าม ” หมายถึง ห้ามทำการสู้รบ และห้ามการล้างแค้นกันซึ่งมีมาในสมัยญาฮิลิยะฮฺ ทั้งนี้ เพื่อนำไปสู่การยุติการเข่นฆ่ากัน และปลูกฝังการ อิหม่านต่ออัลลอฮฺภายในจิตใจ อันจะทำให้พวกเขาลืมและเลิกประเพณีที่ไม่ดีงาม ซึ่งมีมาแต่เดิม ขณะเดียวกันก็เพื่อจะได้ใช้ช่วงเวลาที่มีความสงบ เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์และอุมเราะฮฺ เดินทางไปทำการค้าขายและประกอบอาชีพ ชาวอาหรับจะใช้เดือนซุลเกาะดะฮฺ เพื่อเตรียมตัวเดินทางไปประกอบพิธฮัจญฺและไปค้าขายยังเมืองมักกะฮฺ ใช้เวลาในเดือนซุลฮิจญะฮฺ เพื่อประกอบพิธีฮัจญฺ และซื้อขายสินค้าระหว่างกัน และใช้เวลาในเดือนมุหัรร็อม เพื่อเตรียมตัวเดินทางกลับ ส่วนการห้ามทำสงคราม ในเดือนเราะญับก็เพื่อเปิดโอกาสให้ชาวอาหรับเดินทางไปทำอุมเราะฮฺ และหยุดพักผ่อนเพื่อ ทำการค้าขายและประกอบอาชีพ
ซุนนะฮ์เดือนมุฮัรรอมคือ การถือศีลอดมาก ๆ
ท่านอบูฮุรอยเราะฮฺ เล่าว่าท่านร่อซูลุลลอฮฺศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า
[ أَفْضَلُ الصِّيَامِ بَعْدَ رَمَضَانَ شَهْرُ اللَّهِ الْمُحَرَّمُ وَأَفْضَلُ الصَّلَاةِ بَعْدَ الْفَرِيضَةِ صَلَاةُ اللَّيْلِ ] رواه مسلم
“การถือศีลอดที่ประเสริฐที่ สุดหลังจากการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนคือการถือศีลอดในเดือนของ อัลลอฮ ฺคืออัลมุหัรร็อมและการละหมาดที่ประเสริฐที่สุดหลังจากละหมาดฟัรฎูคือละหมาดกิยามุลลัยลฺ” (บันทึกโดยมุสลิม )
ความประเสริฐของการถือศีลอดวันอาชูรออฺ
ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนิ อับบาส ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุมาเล่าว่า
قَدِمَ النَّبِيُّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ الْمَدِيْنَةَ فَرَأَى الْيَهُوْدَ تَصُوْمُ يَوْمَ عَاشُوْرَاءَ فَقَالَ مَاهَذَا قَلُوْا هَذَا يَوْمٌ صَالِحٌ هَذَا يَوْمٌ نَجَّى اللهُ بَنِيْ إِسْرَائِيْلَ مِنْعَدُوِّهِمْ فَصَامَهُ مُوْسَى قَالَ فَأَنَا أَحَقُّ بِمُوْسَى مِنْكُمْ فَصَامَهُ وَأَمَرَ بِصِيَامِهِ] رواه البخاري وأحمد
“เมื่อท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมเดินทางถึงนครมะดีนะฮฺ ท่านได้เห็นชาวยะฮูดีย์ถือศีลอดในวันอาชูรออฺ ท่านจึงถามว่า “วันนี้คือวัน อะไร?” ชาวยะฮูดีย์ตอบว่า วันนี้เป็นวันที่ดี ที่อัลลอฮฺทรงทำให้ชาวบนีอิสรออีลรอดพ้นจากศัตรูของพวกเขา (พวกฟิรอูน)ดังนั้นท่านนบีมูซา จึงได้ ถือศีลอดในวันนี้ (เพื่อเป็นการขอบคุณต่อพระองค์อัลอฮฺ)ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จึงกล่าวว่า ดังนั้นฉันสมควรที่จะตามมูซามากกว่าพวกเจ้า แล้วท่านก็ถือศีลอด (ในวันนั้น)และสั่งให้ (ชาวมุสลิม)ถือศีลอดในวันนั้นด้วย ” (บันทึกโดยบุคอรียฺ อะหฺมัด)
ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนิอับบาส ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุมากล่าวว่า
[مَا رَأَيْتُ النَّبِيَّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ يَتَحَرَّى صِيَامَ يَوْمٍ فَضَّلَهُ عَلَى غَيْرِهِ إِلاَّ هَذَا الْيَوْمَ يَوْمَ عَاشُوْرَاءَ وَهَذَا الشَّهْرَ يَعْنِيْ شَهْرَ رَمَضَانَ] رواه البخاري
“ฉันไม่เคยเห็นว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมจะมีความพยายามเพื่อถือศีลอดในวันใดที่ท่านให้ความประเสริฐมากกว่าวันอื่นๆ นอกจากวันนี้ วันอาชูรออฺ และเดือนนี้ หมายถึง เดือนรอมฎอน” (บันทึกโดยบุคอรียฺ )
นักวิชาการผู้ชำนาญการด้านประวัตินิติศาสตร์อิลามส่วนมากระบุตรงกันว่า การถือศีลอดเดือนรอมาฎอนนั้นถูกกำหนดให้เป็นฟัรฎูในปีฮิจเราะฮ์สักราชที่ 2 นักวิชาการหลายท่าน อธิบายว่า ในอดีตก่อนกำหนดศีลอดฟัรฎูในเดือนรอมาฎอนนั้น ท่านรอซูลใช้ให้เหล่าสาวกถือศิลอดในวันอาชูรออฺเพียงวันเดียว ต่อจากนั้นได้ยกเลิกการถือศิลอดวันอาชูรออฺ โดยเหลือเพียงแค่เป็นซุนนะฮ์ และให้ถือศิลอดเดือนรอมาฎอนแทน
ผลบุญของการถือศีลอดวันอาชูรออฺ
จากอบีเกาะตาดะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่าท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม
[سُئِلَ عَنْ صِيَامِ يَوْمِ عَاشُوْرَاءَ فَقَالَ يُكَفِّرُ السَّنَةَ الْمَاضِيَةَ]رواه مسلم
“ถูกถามถึงการถือศีลอดในวันอาชูรออฺ ท่านตอบว่า มันจะลบล้างบาป ในปีที่ผ่านมา“ (บันทึกโดยมุสลิม )
ชัยคุล อิสลาม อิบนุตัยมิยะฮฺ กล่าวว่า “การลบล้างบาปจากการอาบน้ำละหมาด การละหมาด การถือศีลอดเดือน รอมฎอน การถือศีลอดวันอะรอฟะฮฺ และการถือศีลอดวันอาชูรออฺ จะเกิดขึ้นสำหรับบาปเล็กเท่านั้น” (อิบนุตัยมียะฮฺ ในอัล-ฟะตาวา อัล-กุบรอ เล่ม 5)
ส่งเสริมให้ถือศีลอดวันตาซูอาอฺควบคู่กับวันอาชูรออฺ
จากท่านอับดุลลอฮฺ อิบนิ อับบาส ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุมาเล่าว่า
[ حِينَ صَامَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ يَوْمَ عَاشُورَاءَ وَأَمَرَ بِصِيَامِهِ قَالُوا يَا رَسُولَ اللَّهِ إِنَّهُ
يَوْمٌ تُعَظِّمُهُ الْيَهُودُ وَالنَّصَارَى فَقَالَ رَسُولُ اللَّهِصَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فَإِذَا كَانَ الْعَامُ الْمُقْبِلُ إِنْ شَاءَ اللَّهُ صُمْنَا الْيَوْمَ التَّاسِعَ قَالَ فَلَمْ يَأْتِ الْعَامُ الْمُقْبِلُ حَتَّى تُوُفِّيَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ ] رواه مسلم
“ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ถือศีลอดในวันอาชูรออฺ และได้ใช้ให้ถือศีลอดในวันนั้น บรรดาเศาะหาบะฮฺได้ถามว่า โอ้ท่านร่อซูลศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม วันนี้มิใช่หรือ ที่พวกยะฮูดี และพวกนัศรอนียฺให้ความสำคัญ ท่านร่อซูลศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ตอบว่า หากถึงปีหน้า หากอัลลอฮฺทรงมีพระประสงค์ พวกเราก็จะถือศีลอดในวันที่เก้า (เดือนมุหัรรอม)อับดุลลอฮฺได้เล่าว่า ยังไม่ถึงปีหน้า ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ก็เสียชีวิตเสียก่อน“ (บันทึกโดยมุสลิม )
จากท่านอิบนิอับบาสว่าท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
[ لَئِنْ بَقِيْتُ إِلَى قَابِلٍ لَأَصُوْمَنَّ التَّاسِعَ] رواه مسلم
“หากฉันมีชีวิตอยู่จนถึงปีหน้าแล้วไซร้ ฉันจะต้องถือศีลอดในวันตาซูอาอฺอย่างแน่นอน” (บันทึกโดยมุสลิม )
ท่านร่อซูลได้ส่งเสริมให้เกิดความแตกต่างกับยะฮูดีย์ที่ พวกเขาถือศีลอดวันอาชูรออฺวันเดียว โดยให้เราถือศีลอด ในวันตาซูอาอฺ (วันที่ 9มุหัรร็อม) หรือวันที่ 11 มุหัรร็อมพร้อมกับ วันอาชูรออฺ
قال الإمام ابن القيم – رحمه الله : فمراتب صومه ثلاثة: أكملها: أن يصام قبله يوم وبعده يوم. ويلي ذلك:أن يصام التاسع والعاشر، وعليه أكثر الأحاديث. ويلي ذلك:إفراد العاشر وحده بالصوم
อิหม่ามอิบนุ้ลกอยยิม รอฮิมะฮุลลอฮ์ กล่าวในหนังสือซาดุลมะอาดว่า : “การถือศีลอดวันอาชุรออ์มีสามแบบ คือ :
– สมบูรณ์สุดคือ : การถือศีลอดก่อนวันอาชุรออ์หนึ่งวันและหลังวันอาชุรออ์หนึ่งวัน
ต่อมาคือ : การถือศีลอดวันที่เก้าและวันที่สิบ มีหะดีษหลายบทยืนยัน
ต่อมาคือ : การถือศีลอดวีนที่สิบวันเดียว”
บิดอะฮ์ในเดือนมุหัรร็อมและวันอาชูรออฺ
มีความเชื่อและและการปฏิบัติบางอย่างในที่ไม่มีตัวบทหลักฐาน หรือปฏิบัติตามหะดีษเก๊หลายเรื่องด้วยกัน ดังตัวอย่างต่อไปนี้ คือ
1. การทาขอบตาในวันอาชูรออฺ โดยอาศัยคำพูดที่ว่า
[مَنِ اكْتَحَلَ يَوْمَ عَاشُوْرَاءَ لَمْ يَرْمَدْ مِنْ ذَلِكَ الْعَامِ]
“ผู้ใดทาขอบตาในวันอาชูรออฺ เขาจะไม่ประสบกับโรคตาแดงในปีนั้น“(หะดีษเมาฎัวะอฺ(เก้) ในมัญมัวอฺฟะตะวา อิบนุ บาซ 26/249)
2. การหยุดกิจการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การสู่ขอ การนิกาฮฺ การปลูกบ้าน ย้ายบ้าน และอื่น ๆ โดยคิดว่าเดือนมุหัรร็อม เป็นเดือนต้องห้าม ซึ่งความจริงแล้ว คำว่า “เดือนต้องห้าม” นั้นก็คือห้ามทำสงครามเท่านั้น ไม่ได้ห้ามกระทำกิจ การอื่น ๆ
3. การอาบน้ำเนื่องในโอกาสวันอาชูรออฺ โดยคำพูดที่ว่า
[مَنِ اغْتَسَلَ يَوْمَ عَاشُوْرَاءَ لَمْ يَمْرَضْ ذَلِكَ الْعَامَ]
“ผู้ใดอาบน้ำในวันอาชูรออฺ เขาจะไม่ประสบกับโรคภัยไข้เจ็บในปีนั้น“
(หะดีษเมาฎัวะอฺ(เก๊) ในมัจญมัวอฺฟะตะวา อิบนุ บาซ 26/249)
4. การเจาะจงทำซ่อดาเกาะฮฺในวันอาชูรออฺ โดยอาศัยคำพูดที่ว่า
[مَنْ وَسَّعَ عَلَى أَهْلِهِ يَوْمَ عَاشُوْرَاءَ وَسَّعَ اللهُ عَلَيْهِ سَائِرَ السَّنَةِ]
“ผู้ใดเพิ่มความบริบูรณ์ให้แก่สมาชิกในครอบครัวของเขาในวันอาชูรออฺ อัลลอฮฺจะทรงเพิ่มความ บริบูรณ์ให้แก่เขาตลอดทั้งปี“
(หะดีษเมาฎัวะอฺ ในมัญมัวอฺฟะตะวา อิบนุ บาซ 26/249)
หะดีษ 3 รายงานเช่นนี้ ล้วนเป็นการโกหกต่อท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ทั้งสิ้น (ชัยคุล อิสลาม อิบนิตัยมิยะฮฺ อัล-ฟะตาวา อัลกุบรอ)
5. การละหมาดในรูปแบบเฉพาะ
[مَنْ صَلَّى يَوْمَ عَاشُورَاءَ مَا بَيْنَ الظُّهْرِ وَالْعَصْرِ أَرْبَعَ رَكَعَاتٍ يَقْرَأُ فِي كُلِّ رَكْعَةٍ بِفَاتِحَةِالْكِتَابِ مَرَّةً وَآيَةِ الْكُرْسِيِّ عَشْرَ مَرَّاتٍ وَقُلْ هُوَ اللَّهُأَحَدٌ إِحْدَى عَشْرَةَ مَرَّةً وَالْمُعَوِّذَتَيْنِخَمْسَ مَرَّاتٍ فَإِذَا سَلَّمَ اسْتَغْفَرَ اللَّهَ سَبْعِينَ مَرَّةً أَعْطَاهُ اللَّهُ فِي الْفِرْدَوْسِ قُبَّةً بَيْضَاءَ]
“ผู้ใดที่ละหมาดในวันอาชูรอ อฺในช่วงระหว่างดุฮฺริและอัศริ 4 ร่อกะอะฮฺ โดยที่เขาอ่าน ซูเราะฮฺอัลฟา ติหะฮฺ ๑ จบ อ่านอายะฮฺกุรซียฺ ๑๐ จบ อ่านกุลฮุวัลลอฮุอะฮัด ๑๑ จบ และอ่านกุลอะอูซุบิร็อบบิลฟะลัก และกุลอะอูซุบิร็อบบินนาซ ๕๐ จบ เมื่อเขาละหมาดเสร็จก็ขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺ ๗๐ ครั้ง อัลลอฮฺจะทรงให้เขาอยู่ในสวรรค์ชั้นฟิรเดาส์โดมขาว “
(หะดีษเมาฎัวะอฺ ในอัลฟะวาอิดุลมัญมูอะฮฺ เชากานียฺ : 141 ในอัลเมาฎูอะตุลกุบรอ อิบนุเญาซียฺ : 909)
6. การกวนขนมอาซูรอในวันอาชูรออฺ เพื่อรำลึกถึงท่านนบีนัวหฺ ในวันที่อัลลอฮฺทรงทำให้เรือของท่านไปจอดที่ ภูเขาญูดีย์ หลังจากนั้นนบีนัวหฺ และคนอื่น ๆ ได้นำ อาหารมารวมกัน ผสมกัน และแบ่งกันรับประทาน
7. การเศร้าโศรกเสียใจ ต่อการเสียชีวิตของท่านฮุเซ็น ที่กัรบะลาอฺ ในวันอาชูรออฺ โดยมีการทิ่มแทง ฟันตัวเอง สร้างความเจ็บปวด ร้องโอดครวญ ซึ่งเป็นการกระทำของพวกชีอะฮฺ การทำร้ายร่างกาย ทุบตี ฟันแทง แล้วอ้างว่า เป็นการรำลึกถึงความทรมานที่เกิดขึ้นกับท่านหุเซนหลานของท่านนบี นั้นก็ไม่ปรากฏตัวอย่างการกระทำของ ซอฮาบะฮ์ เหตุการณ์ที่ท่านหุเซนเสียชีวิตเกิดขึ้นในปีที่ 61 ยังมีซอฮาบะฮ์อีกหลายคนที่มีชีวิตอยู่ แต่ไม่มีใคร แสดงความเสียใจด้วยวิธีการแบบนี้ และทุกคนยังนับว่าการแสดงความเสียใจด้วยการทุบตีร่างกายเป็นบาปใหญ่ ที่นบีห้าม
8. ทำละหมาดสุหนัตส่งท้ายปีเก่า 2 รอกอะฮฺ ขอดุอาอฺ เสร็จแล้วให้ละหมาดขึ้นปีใหม่มุหัรรอมอีก 2 รอกอะอฮฺ
9. มีการอ่านดุอาอฺในวันสิ้นปีหรือสิ้นเดือนซุลฮิจญะฮฺ 3 จบชัยฏอนจะไม่มารบกวนเขาตลอดทั้งปี อัลลอฮฺจะคุ้ม ครองจากภัยบะลอตลอดทั้งปี ใครอ่านต้นปี ต้นมุหัรรอม อัลลอฮฺจะส่งมะลาอิกะฮ์มา 2 ท่านคุ้มครองเขาตลอดทั้งปี
10.การทำอิบาดะฮฺโดยเจาะจงทำเวลาตอนสิ้นปี เช่น การถือศีลอด การขอดุอาอฺ(ขอพร)และการอิสติฆฟ้าร(ขออภัยโทษ) เป็นต้น โดยอ้างเหตุผลในการกระทำว่า “บันทึกการงานต่างๆของมนุษย์จะถูกปิดบัญชีตอนสิ้นปี ดังนั้นจึงจำเป็นต้องทำความดีเพื่อให้บันชีถูกปิดท้ายด้วยการทำความดี”
บทความโดย : อ.ดาวุด รอมาน นักวิชาการชมรมอัซซะละฟิยูน