คำนิยามของบิดอะฮ์

·

คำถาม อะไรคือคำนิยามของบิดอะฮ์ และข้อตัดสินของการอุตริการงานหนึ่งขึ้นในศาสนาคืออะไร ? และอะไรคือตัวอย่างในเรื่องของบิดอะฮ์ ?

คำตอบ การอุตริสิ่งหนึ่งขึ้นในเรื่องราวของศาสนาคือสิ่งที่หะรอม (ต้องห้าม) ซึ่งเป็นข้อห้ามที่หนักหน่วง  และผู้ที่อุตริบิดอะฮ์ขึ้น (ในศาสนา) คือผู้ที่มีความผิด โดยที่การงานของเขา (ที่เขาได้อุตริขึ้นในด้านศาสนานั้น) จะไม่ถูกตอบรับ 

ท่านนบี ﷺ ได้กล่าวว่า : “ผู้ใดที่อุตริ(การงานหนึ่ง)ขึ้นในกิจการงานของเรา โดยที่การงานนั้นไม่ได้มีอยู่ในกิจการงานของเรา การงานดังกล่าวย่อมถูกปฏิเสธ” (1) ในบางรายงานมีสำนวนว่า : “ผู้ใดที่ปฏิบัติการงานใดโดยที่ไม่ได้มีอยู่ในรูปแบบกิจการงานของเรา การงานนั้นย่อมถูกปฏิเสธ” (2) 
และท่านนบี ﷺ ก็ได้กล่าวอีกว่า : “พวกท่านจงยึดแบบฉบับซุนนะฮ์ของฉัน และแบบฉบับซุนนะฮ์ของบรรดาค่อลีฟะฮ์ผู้ทรงธรรมที่อยู่บนทางนำหลังจากฉัน จงยึดมั่นต่อสิ่งนี้ และกัดมันไว้ด้วยฟันกราม และพวกท่านทั้งหลายพึงระวังสิ่งอุตริในด้านศาสนา เพราะแท้จริงทุกสิ่งที่อุตริใหม่นั้นเป็นบิดอะฮ์ และทุกบิดอะฮ์นั้นคือความหลงผิด” (3) ในบางรายงานมีสำนวนว่า : “และทุกความหลงผิดย่อมอยู่ในนรก” (4) 
จากหะดิษเหล่านี้ ทำให้ได้คำจำกัดความของบิดอะฮ์ว่า หมายถึง สิ่งที่ถูกอุปโลกน์ ถูกอุตริขึ้นในศาสนาโดยไม่มีรูปแบบวิธีการมาก่อน ตัวอย่างเช่น ผู้ที่ปฏิบัติอิบาดะฮ์หนึ่งขึ้น หรืออุตริรูปแบบการรำลึกถึงอัลลอฮ์ (ซิเกร) ขึ้น โดยไม่ได้มีหลักฐานจากบทบัญญัติศาสนาบในเรื่องนั้น ๆ ไม่มีทั้งจากอัลกุรอ่าน และไม่มีทั้งจากอัซซุนนะฮ์, นี่แหละคือบิดอะฮ์ 
และท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ ในทุกคุตบะฮ์วันศุกร์(ที่ท่านได้ขึ้นกล่าวเทศนา) ท่านจะกำชับให้ยึดมั่นในอัลกุรอ่านและอัซซุนนะฮ์ และเตือนให้ระวังจากบิดอะฮ์ , โดยท่านนบี ﷺ ได้กล่าวว่า : “แท้จริงคำพูดที่ดีที่สุดคือคัมภีร์ของอัลลอฮ์ และแนวทางที่ดีที่สุดคือแนวทางของมุฮัมมัด ﷺ และที่ชั่วช้าที่สุดในกิจการงานทั้งหลายนั้น คือสิ่งที่ถูกอุตริขึ้นมาใหม่” (5) ดังนั้นบิดอะฮ์คือความชั่วร้าย คือสิ่งที่ทำให้ห่างไกลจากอัลลอฮ์ หากว่าผู้กระทำบิดอะฮ์นั้นกล่าวอ้างบิดอะฮ์เพื่อแสวงหาความใกล้ชิดต่ออัลลอฮ์ และประสงค์ให้ดีมาซึ่งความดีงาม 

ดังนั้นประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณานั้น ไม่ใช่เรื่องของเจตนาหรือเป้าหมาย (ที่ผู้กระทำบิดอะฮ์มุ่งหวัง) แต่ทว่าประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาคือ ความสอดคล้องตรงตามหลักบทบัญญัติ และคือการที่มุสลิมคนหนึ่งจะต้องไม่ปฏิบัติการงานใด  (ในด้านศาสนา) เว้นเสียแต่จะต้องมีหลักฐานจากบทบัญญัติรับรองไว้ และคือการไม่แสวงหาความใกล้ชิดต่ออัลลอฮ์ ไม่อิบาดะฮ์ต่อพระองค์ เว้นแต่ว่า (การอิบาดะฮ์ต่ออัลลอฮ์นั้น) จะต้องเป็นไปตามหลักบทบัญญัติได้บัญญัติไว้เท่านั้น , และศาสนาอิสลามนั้นตั้งอยู่บนสองรากฐาน : การมีความบริสุทธิ์ใจต่ออัลลอฮ์ และการดำเนินตามท่านร่อซู้ล ﷺ

แหล่งที่มา; เชค ศอและฮ์ อัลเฟาซาน – หะฟิศ่อฮุ้ลลอฮ์ –  ฟะตาวา นูร อะลัดดัรบ์
https://al-fatawa.com/fatwa/100965/تعريف-البدعة-الفوزان

(1) ศ่อเฮียะฮ์อัลบุคอรีย์ : (2697)

(2) ศ่อเฮียะฮ์มุสลิม : (1718)

(3) ศ่อเฮียะฮ์ อบีดาวูด : (4607)

(4) ศ่อเฮียะฮ์อัลญามิอ์ : (1353)

(5) ศ่อเฮียะฮ์มุสลิม : (867)