คำถาม ในปัจจุบันมีการแพร่หลายในเรื่องของการรีบร้อนในการออกคำฟัตวาโดยปราศจากความรู้และหลักฐาน ท่านเชคมีมุมมองอย่างไรในฮุก่มทางศาสนาของเรื่องนี้?1
คำตอบ ไม่อนุญาตให้รีบร้อนออกคำฟัตวาโดยปราศจากความรู้ เพราะการออกคำฟัตวาโดยปราศจากความรู้นั้นเป็นหนึ่งในบาปใหญ่ที่สุดที่อัลลอฮ์ทรงกล่าวมันไว้คู่ไปกับการตั้งภาคีต่ออัลลอฮ์ ในดำรัสของพระองค์ที่ว่า : ((จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) ว่า แท้จริงสิ่งที่พระเจ้าของฉันทรงห้ามนั้น คือบรรดาสิ่งที่ชั่วช้าน่ารังเกียจ ทั้งที่เปิดเผยจากมันและสิ่งที่ไม่เปิดเผย และสิ่งที่เป็นบาป และการข่มเหงรังแกโดยไม่เป็นธรรม และการที่พวกเจ้าให้เป็นภาคีแก่อัลลอฮ์ซึ่งสิ่งที่พระองค์มิได้ทรงประทานหลักฐานใด ๆ ลงมาแก่สิ่งนั้น และการที่พวกเจ้ากล่าวให้ร้ายแก่อัลลอฮ์ในสิ่งที่พวกเจ้าไม่รู้)) [ ซูเราะหฺอัลอะอฺรอฟ – 33 ]
ดังนั้นคำฟัตวาเปรียบดังตัวแทนของอัลลอฮ์ เพราะมันได้พูดถึงฮุก่มต่างๆของอัลลอฮ์ที่มีต่อบ่าวของอัลลอฮ์ ส่วนมุฟตีย์(ผู้ออกคำฟัตวา)นั้นเปรียบดังท่านร่อซู้ล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เพราะบรรดาผู้รู้นั้นคือทายาทของบรรดานบี ในเมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ความพินาศย่อมประสบแก่เขา(ผู้ที่ออกคำฟัตวา) หากเขาอ้างคำโกหกให้กับอัลลอฮ์ และร่อซู้ลของพระองค์ ฉะนั้นจงระวังการรีบเร่งในการออกคำฟัตวา และจงปฏิบัติตามแบบอย่างบรรดาสลัฟ โดยที่แต่ละท่านต่างปัดภาระการออกคำฟัตวาให้อีกคน เพื่อจะได้ปลอดภัยจากความรับผิดชอบดังกล่าว และจงจำไว้ว่า การจะขึ้นมาเป็นแนวหน้าทางศาสนานั้น ไม่ใช่ว่าจะได้มาโดยการเร่งรีบในการออกคำฟัตวา ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อชาวบ้านทั่วไปเห็นว่าเขานั้นมีข้อผิดพลาดมากมาย (แทนที่พวกเขาจะชื่นชม)กลับผินหลังหนี และไม่เชื่อมั่นในคำฟัตวาที่ออกมาจากปากเขา แต่ถ้าหากเขามีความละเอียดรอบคอบ ค่อยเป็นค่อยไป ไม่ฟัตวาโดยปราศจากความรู้ที่แน่นอน หรือความรู้ที่ค่อนข้างมั่นใจในเรื่องที่ใช้ความน่าจะเป็นได้ เขาก็ย่อมที่จะได้รับการให้เกียรติยกย่องในหมู่ผู้คน และคำพูดของเขาก็จะเป็นที่ยอมรับและได้รับการพิจารณา
แหล่งที่มา; หนังสือ มัจญ์มูอ์อัลฟะตาวา ว่ะร่อซาอิ้ลอัลอุซัยมีน คำถามที่ 194 เล่มที่ 26 หน้า 417-418
- หมายรวมถึง การไม่มีคุณสมบัติที่พร้อมในการเป็นผู้ออกคำฟัตวา หรือออกคำฟัตวาโดยไม่มีองค์ความรู้ หรือไม่พิจารณาถึงหลักฐานหรือปัจจัยอื่นๆที่ส่งผลต่อการฟัตวานั้นให้ถี่ถ้วน ↩︎