การเขียนอายะฮ์อัลกุรอ่านลงในวัตถุต่างๆเพื่อการปกป้องคุ้มภัย

·

คำถาม   : มีผู้รู้บางคนเขียนอายาตอัล-กุรอ่านลงบนกระดานสีดำและล้างออกด้วยน้ำ  และนำน้ำไปดื่มโดยหวังว่าจะเป็นการเพิ่มพูนความรู้  หรือทรัพย์  หรือสุขภาพ  บางทีก็เขียนลงบนเศษวัตถุ(จะเป็นผ้าหรือกระดาษก็แล้วแต่)แล้วนำไปแขวนคอเพื่อเป็นการปกป้องคุ้มภัย(จากอันตราย) สิ่งดังกล่าวเป็นที่อนุมัติหรือต้องห้ามแก่มุสลิมอย่างใดหรือไม่  ?

คำตอบ ท่านนะบี ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมอนุญาตให้อ่านกุรอ่าน บทซิกรุ้ลเลาะห์และดุอาอฺที่ไม่มีชิรก์และเป็นคำพูดที่สามารถเข้าใจได้  แล้วเป่า  จากบันทึกของอิมหม่ามมุสลิม มีรายงานจากเอาฟฺ อิบนุมาลิก  กล่าวว่า  “เราเคยอ่านแล้วเป่าในยุคญาฮิลียะห์  เราจึงถามท่านร่อซูลุ้ลเลาะห์ว่า โอ้ท่านร่อซูลุ้ลเลาะห์ท่านเห็นเป็นอย่างไร (เกี่ยวสิ่งที่เราทำ)  ท่านร่อซู้ล กล่าวว่า จงนำสิ่งที่พวกท่านใช้อ่านแล้วเป่ามาให้ฉันดูก่อน  การอ่านแล้วเป่าที่ไม่มีชิรก์ไม่ถือว่าผิดแต่อย่างใด ”  ในเรื่องดังกล่าวนี้นักวิชาการต่างเห็นสอดคล้องกันว่าเป็นสิ่งที่อนุมัติโดยต้องไม่คิดว่าการกระทำดังกล่าวส่งผลโดยตรงด้วยตัวของมันเองหากแต่เป็นการตักดีรของอัลเลาะห์ 

ส่วนการแขวนไว้ที่คอหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย  หากว่าสิ่งที่นำมาแขวนมิใช่อัล-กุรอ่าน  การกระทำดังกล่าวเป็นที่ต้องห้ามอย่างชัดเจน  และถือว่าเป็นชิรก์ด้วย ทั้งนี้เพราะมีรายงานจากท่าน อิมรอน อิบนุ ฮุซอยน์ บันทึกโดยอิหม่ามอะห์หมัดว่า “ท่านนะบี  ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เห็นชายผู้หนึ่งซึ่งที่(ข้อ)มือของเขามีวงทองเหลืองสวมอยู่(บางรายงานบอกว่าเป็นแหวนทองเหลือง) ท่านนะบี ฯ ถามว่ามันคือะไร? เขาตอบว่ามันมาจากอัล-วาฮินะห์ (คือเหงื่อไคลจากหัวไหล่ที่มีการปลุกเสกแล้ว- การกระทำดังกล่าวเป็นความเชื่อของอาหรับโบราณ-ผู้แปล) ท่านนะบี ฯ จึงกล่าวว่า จงถอดมันทิ้งเสียมันไม่ช่วยอะไรเจ้าเว้นแต่ความอ่อนแอ  และหากเจ้าตายสิ่งนี้ยังแขวนอยู่กับเจ้าแล้ว  เจ้าจะไม่ได้รับชัยชนะ(คือพ้นจากการลงโทษของอัลเลาะห์และได้สวรรค์ของพระองค์-ผู้แปล) เด็ดขาด”

และอีกริวายะห์หนึ่ง(ของอิหม่ามอะห์หมัด) ซึ่งรายงานโดยอุ๊กบะห์  อิบนุ อามิร จากท่านนะบี ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า “ผู้ใดแขวนตะมีมะห์ (ตระกุด-ยันต์) อัลเลาะห์จะไม่ให้เขาสมบูรณ์ ผู้ใดแขวนเปลือกหอย อัลเลาะห์จะไม่ใยดีเขา ”  อีกริวายะห์หนึ่งของอิหม่ามอะห์หมัดเช่นกันมีว่า “ผู้ใดแขวนตะมีมะห์ (ตระกุด-ยันต์) ผู้นั้นได้ตั้งภาคีแล้ว”   ปรากฏในบันทึกของอิหม่ามอะห์หมัดจากรายงานของอิบนุมัสอู๊ด ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ  ว่า ท่านร่อซูลุ้ลเลาะห์  ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า “แท้จริงการเสกเป่า (ที่มีชิรก์) ตระกุด-ยันต์  และการทำเสน่ห์   เป็นชิรก์”

ส่วนการนำอายาตอัล-กุรอ่านมาแขวนนั้น  ที่ถูกต้องแล้วถือว่าต้องห้ามเช่นกันด้วยเหตุสามประการดังนี้ – ความหมายของบรรดาฮะดีษที่ห้ามนั้นครอบคลุมทั้งหมด  และยังไม่พบหลักฐานใดๆ มายกเว้นกรณีที่เป็นอายาตอัล-กุรอ่าน – เป็นการปิดกั้นหนทางที่จะพาสู่การแขวนสิ่งที่มิใช่อัล-กุรอ่าน – การแขวนอัล-กุรอ่านอาจเป็นเหตุนำไปสู่การไม่ให้ความสำคัญต่ออัลกุรอ่าน เพราะผู้แขวนอาจพาสิ่งที่แขวนเข้าห้องน้ำห้องส้วมหรือสถานที่ๆ ไม่เหมาะสม  หรืออาจร่วมประเวณีในขณะที่มีสิ่งดังกล่าวแขวนอยู่

ในกรณีของการเขียนอายาตอัล-กุรอ่านลงในกระดาน  ถ้วยชาม  หรือเศษโลหะ แล้วก็นำไปล้างด้วยน้ำเปล่าหรือน้ำหญ้าฝรั่น  แล้วนำไปดื่มโดยหวังจะเกิด  บะร่อกะห์  เพิ่มพูนความรู้  เพิ่มทรัพย์  เพื่อสุขภาพ  หรือเพื่อหายจากโรค หรืออะไรทำนองนี้ ไม่มีตัวบทหลักฐานใดๆ ที่ชัดเจนจากท่านนะบี ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ว่าท่านเคยทำให้แก่ตัวเองหรือทำให้ผู้อื่น  หรือเคยอนุมัติให้แก่ผู้หนึ่งผู้ใดจากบรรดาศ่อฮาบะห์ของท่านให้กระทำเช่นนั้น  ทั้งๆ ที่ก็มีความต้องการหรือความจำเป็นในเรื่องดังกล่าวเช่นกัน และก็ไม่พบว่ามีรายงานที่ศ่อเฮี๊ยะห์ใดๆ จากบรรดาศ่อฮาบะห์ว่ามีผู้หนึ่งผู้ใดเคยกระทำหรืออนุมัติให้กระทำเช่นนั้น 

ดังนั้นทางที่ดีที่สุดคือควรละทิ้งสิ่งดังกล่าวเสีย  ทั้งนี้ยกเว้นอัรรุกยะห์ (อ่านแล้วเป่า) ด้วยอัล-กุรอ่าน พระนามและคุณลักษณะของอัลเลาะห์ ดุอาอฺของนะบี ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม หรือด้วยคำอ่านที่ไม่มีชิรก์ใดๆ เจือปน  และทางที่ดีที่สุดก็คือการแสวงหาความใกล้ชิดต่ออัลเลาะห์ด้วยสิ่งที่อัลเลาะห์บัญญัติไว้  เช่นด้วยการเตาบะห์(กลับเนื้อกลับตัวต่อพระองค์) และด้วยการวิงวอนขอต่ออัลเลาะห์ให้พ้นจากภัยต่างๆ ตลอดจนความเศร้าหมองต่างๆ  วิงวอนขอต่อพระองค์ให้เพิ่มพูนความเข้าใจ  การกระทำเช่นว่านี้ก็พอเพียงแล้ว  ผู้ใดอาศัยสิ่งที่อัลเลาะห์บัญญัติให้  อัลเลาะห์ก็จะให้เขาไม่ต้องไปพึงพาสิ่งใดอื่นจากพระองค์   วะบิ้ลลาฮิตเตาฟีก วะศ้อลลัลลอฮุอะลานะบียินา     มุฮัมหมัด     วะอาลิฮี วะเศาะห์บิฮี วะซัลลัม

แหล่งที่มา;  ฟัตวาเลขที่ (1257) จากฟะตาวาของคณะกรรมการถาวร