การบำบัดรักษาด้วยอายะฮ์อัลกุรอ่าน

·

คำถาม   อนุญาตให้ใช้อายะฮ์อัลกุรอ่านในการบำบัดรักษาหรือไม่? ถ้าอนุญาตแล้วจะต้องรักษาด้วยวิธีการใด? และอัลกุรอ่านนั้นสามารถรักษาได้ทุกโรคหรือแค่เพียงบางโรคเท่านั้น? แล้วมีโรคอะไรบ้าง?

คำตอบ ใช่ อนุญาตให้ใช้อัลกุรอ่านในการรักษาโรคได้ เพราะอัลลอฮ์ ตะอาลา ได้ตรัสไว้ว่า: ((และเราได้ให้ส่วนหนึ่งจากอัลกุรอ่านลงมา ซึ่งเป็นการบำบัดและความเมตตาแก่บรรดาผู้ศรัทธา)) (ซูเราะฮ์ อัลอิสรออ์ อายะฮ์ที่ 82) และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ก็เคยทำการอ่าน อัลมุเอาวิซะตัยน์ (ซูราะฮ์อัลฟะลักและซูเราะฮ์อันนาส) ในการใช้ปกป้องคุ้มครอง โดยกล่าวว่า “ไม่มีดุอาอ์ใดที่ใช้ปกป้องคุ้มครองได้เทียมเท่ากับซูเราะฮ์ทั้งสอง” อีกทั้งยังสามารถอ่านอายะฮ์ต่างๆแก่ผู้ป่วย ที่(มีความหมาย)สอดคล้องกับโรคนั้นๆได้เช่นกัน เช่นอ่านอายะฮ์ที่ทำให้โรคภัยและความเจ็บปวดทุเลาลง
ดังอายะฮ์ที่ว่า (وَلَهُ مَا سَكَنَ فِي اللَّيْلِ وَالنَّهَارِ وَهُوَ السَّمِيعُ الْعَلِيمُ)  (ความว่า : และสิ่งที่เงียบสงบอยู่ในยามกลางคืนและกลางวันนั้นเป็นสิทธิ์ของพระองค์ และพระองค์คือผู้ทรงได้ยิน ผู้ทรงรอบรู้ (ซูเราะฮ์ อัลอันอาม อายะฮ์ที่ 13)

หรืออ่านอายะฮ์  (أَمَّنْ يُجِيبُ الْمُضطَرَّ إِذَا دَعَاهُ وَيَكْشِفُ السُّوءَ وَيَجْعَلُكُمْ خُلَفَاءَ الأَرْضِ أَإلَهٌ مَعَ اللَّهِ قَلِيلاً مَا تَذَكَّرُونَ) (ความว่า : หรือผู้ใดเล่าจะตอบรับผู้ร้องทุกข์ เมื่อเขาวิงวอนขอต่อพระองค์ และปลดเปลื้องความชั่วร้ายนั้น และทรงทำให้พวกเจ้า เป็นผู้ปกครองแผ่นดิน จะมีพระเจ้าอื่นคู่เคียงกับอัลลอฮ์อีกหรือ? ส่วนน้อยเท่านั้นที่พวกเจ้าจะใคร่ครวญ)

หรืออายะฮ์อื่นๆที่มีความหมายสอดคล้องกัน รวมถึงการอ่านซูเราะฮ์อัลฟาติฮะฮ์ เพราะท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้บอกว่าซูเราะฮ์นี้เป็นรุกยะฮ์ที่อ่านเป่าให้กับคนป่วย หรือคนที่ถูกแมลงสัตว์กัดต่อย จะช่วยให้หายได้ด้วยพระประสงค์ของอัลลอฮ์ แต่ต้องรู้ไว้ว่า ถึงแม้ตัวอัลกุรอ่านจะเป็นการเยียวยารักษา แต่ก็ขึ้นอยู่กับสภาพของผู้อ่าน และผู้ที่ถูกอ่านให้ด้วย เพราะจะต้องสอดคล้องกันทั้งผู้ให้และผู้รับ มิเช่นนั้นแล้วคำวิงวอนก็จะไม่เป็นผล กล่าวคือผู้ทำให้ก็จะต้องเป็นผู้เหมาะสมที่จะทำ ผู้รับก็เป็นผู้เหมาะสมที่จะรับ หากคนที่อ่านอัลกุรอ่านเป็นคนที่ไม่ได้ใส่ใจในสิ่งที่อ่าน หรือไม่มั่นใจว่าอ่านไปแล้วจะเป็นผลหรือไม่ ก็คงช่วยอะไรผู้ป่วยไม่ได้ เช่นกันหากอ่านให้ผู้ป่วยที่คลางแคลงในผลที่จะได้รับ ก็คงไม่ช่วยอะไรเขาได้เช่นกัน ดังนั้นทั้งผู้อ่านและผู้ถูกอ่านให้จะต้องเชื่อมั่นในผลลัพธ์ ถ้าทำไปพร้อมๆกับความเชื่อมั่นศรัทธาแล้ว สิ่งนั้นก็จะยังประโยชน์

แหล่งที่มา;  ฟะตาวานู้รอะลัรดัรบ์ของเชคอุซัยมีน ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮ์  เล่มที่ 4 หน้าที่ 2